“มนัญญา” ห่วงพี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไยภาคเหนือ สั่งเร่งกระจายผลผลิตโดยเร็ว สกจ. 3 จังหวัด 

“มนัญญา” ห่วงพี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไยภาคเหนือ สั่งเร่งกระจายผลผลิตโดยเร็ว สกจ. 3 จังหวัด “เชียงใหม่ ลำพูน น่าน” ขานรับขับเคลื่อนผ่านช่องทางการตลาดต่าง ๆ ล่าสุดสถานการณ์คลี่คลายในทางที่ดี ขณะผลผลิตเริ่มเข้าสู่ช่วงปลายฤดู  

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เปิดเผยว่าตามข้อสั่งการของ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีความเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไยในพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคเหนือ     ซึ่งปีนี้ (2565 )มีผลผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 20% แบ่งเป็นลำไยในฤดู 812,818 ตัน และนอกฤดู 259,746 ตัน ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดงบเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 95 ล้านบาทจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์หนุนเครือข่ายสหกรณ์ 7 จังหวัดภาคเหนือเปิดจุดรับซื้อผลผลิตในราคานำตลาด พร้อมจัดส่งคู่ค้าเอกชนและเครือข่ายสหกรณ์ปลายทางเพื่อกระจาย    สู่ผู้บริโภคทั่วประเทศโดยเร็วที่สุด ล่าสุดสถานการณ์ลำไยเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี อีกทั้งเวลานี้ผลผลิตก็อยู่ในช่วงปลายฤดู    ในเกือบทุกพื้นที่

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลกรมส่งเสริมสหกรณ์รายงานผลการกระจายผลผลิตลำไยของสถาบันเกษตรกรต้นทาง 14 แห่งใน 5 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน และน่าน ฤดูกาลผลิตปี 2565 ล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ส.ค.65) ระบุว่ามีปริมาณการกระจายลำไยทั้งหมด 2,431.75 ตัน แบ่งเป็นโมเดิร์นเทรดและร้านสะดวกซื้อ 451.53 ตัน เครือข่ายสหกรณ์ 447.14 ตัน และตลาดทั่วไทยในประเทศ 1,357.93 ตันและอื่น ๆ เช่น ค้าขายทางออนไลน์ ส่งออกผ่านตัวแทน 175.15 ตัน

นางสาวกมลวรรณ นุชัย สหกรณ์จังหวัดลำพูนยอมรับว่า สถานการณ์ลำไยของจังหวัดลำพูนในขณะนี้ใกล้จะหมดแล้วเหลือในพื้นที่ประมาณ 20% ส่วนตลาดก็ไม่มีปัญหาอะไร เนื่องจากลำไยอยู่ในช่วงปลายฤดูจากนี้ไปก็จะเป็นลำไยนอกฤดู     โดยลำไยลำพูนผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมทุกปี 

“ปัญหาลำไยลำพูนจะไปชนกับจังหวัดอื่นที่ออกมาพร้อม ๆ กัน แต่โชคดีเรามีตลาดลูกค้าประจำรองรับอยู่แล้ว   ทั้งห้างสรรพสินค้า ตลาดโมเดิร์นเทรด ห้างแมคโคร โลตัส  และเครือข่ายสหกรณ์จากทั่วประเทศในการช่วยกระจายผลผลิต จึงไม่ค่อยเป็นปัญหา” สหกรณ์จังหวัดลำพูน กล่าว

เช่นเดียวกับพื้นที่ จ.น่าน สถานการณ์ลำไยเข้าสู่ในช่วงปลายฤดูเช่นกัน นางสุภาพ ไทยน้อย สหกรณ์จังหวัดน่าน     เผยว่าผลผลิตลำไยในพื้นที่ จ.น่านปีนี้อยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นตัน ส่วนใหญ่จะปลูกกันมากใน อ.เชียงกลาง และอ.ท่าวังผา  ซึ่งขณะนี้ผลผลิตโดยรวมเริ่มวายแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ อ.เชียงกลางคาดว่าจะหมดในปลายเดือนสิงหาคม 2565 ส่วน อ.ท่าวังผาขณะนี้ผลผลิตยังกระจุก ทางสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินท่าวังผา จำกัด เร่งระบายโดยผ่านเครือข่ายสหกรณ์ปลายทาง อย่างเช่นวันนี้ (18 ส.ค.) มีวันนี้สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินท่าวังผา จำกัด คัดลำไยคุณภาพเพื่อส่งสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี และสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด ส่วนอำเภออื่นเกือบไม่มีแล้วหรือมีเพียงน้อยนิดเท่านั้น

“ช่วงที่ผ่านมาโชคไม่ดีน่านเจอฝนจากพายุมู่หลานพัดผ่านเข้ามา ส่งผลให้ผลผลิตส่วนที่เหลือร่วงแตกกระจายได้รับความเสียหายทำให้หมดเร็วกว่าที่คาดการณ์” สหกรณ์จังหวัดน่าน กล่าว 

ขณะที่สถานการณ์ลำไยโดยรวมของ จ.เชียงใหม่ ขณะนี้เก็บเกี่ยวไปแล้วประมาณ 70% ส่วนใหญ่จะอยู่ในโซนตอนใต้ไล่ตั้งแต่ อ.ฮอด อ.จอมทอง อ.สันป่าตอง และอ.หางดง ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ติดต่อกับ จ.ลำพูน โดยขณะนี้ผลผลิตเกรด AA เก็บเกี่ยวหมดแล้วเหลือเพียงผลผลิตตกเกรด ซี่งมีจำนวนไม่มากนักโดยจะส่งให้กับโรงงานแปรรูปสหกรณ์ต่อไป 

ส่วนพื้นที่ทางตอนเหนือเขต อ.แม่แตง อ.พร้าว อ.เชียงดาว และอ.ไชยปราการ ผลผลิตกำลังออกสู่ตลาดและราคารับซื้อลำไยเกรดAA ยังค่อนข้างดี สนนราคาอยู่ที่ 17-18 บาทต่อกิโลกรัมสำหรับลำไยสดร่วง ส่วนลำไยสดช่ออยู่ที่ 20-24 บาทต่อกิโลกรัม

          “ลำไยโซนใต้ออกชนกับของลำพูนราคาจะลงเยอะ พอมาตรการรัฐเข้ามาก็ช่วยประคองสถานการณ์ไว้ได้ระยะหนึ่ง ตอนนี้ผลผลิตโซนใต้หมดแล้วเริ่มไล่ขึ้นไปทางเหนือ อันที่จริงช่วงนี้ล้งจีนหยุดรับซื้อแล้ว แต่บังเอิญออเดอร์ที่เขารับมายังไม่พอ จึงต้องมารับซื้อทางโซนเหนือเพิ่ม ทำให้ราคาขยับขึ้นมาหน่อย ทั้งที่จริงช่วงกลางฤดูโซนเหนือราคาจะอยู่ที่ 13 – 14 บาท     ต่อกิโลเท่านั้น” นายสุริยะ คำปวง สหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่กล่าว และว่าอีกสองสัปดาห์ผลผลิตลำไยสายเหนือก็จะเริ่มเบาลง   และจะหมดในราวเดือนกันยายน 2565 จากนั้นก็จะเข้าสู่การทำลำไยนอกฤดูต่อไป โดยขณะนี้เหลืออีกประมาณ 30% เท่านั้น จากผลผลิตทั้งหมด 296,666 ตันของ จ.เชียงใหม่

                                   —————————————–

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *