กทท. เร่งพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ ตั้งสถาบันฯ ดึงผู้เชี่ยวชาญภาคการขนส่งทางน้ำเข้ารวมงาน สนองนโยบาย คค.

กทท. ตั้งสถาบันการศึกษาด้านการขนส่งทางน้ำของประเทศ ขานรับนโยบายกระทรวงคมนาคมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้แก่บุคลากร พร้อมเดินตามหลัก BCG Model ผนึกกำลังหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชน สังคม มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยและเครือข่ายต่างประเทศ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันฯ

               นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย( กทท.)เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทท. ได้จัดตั้งสถาบันด้านการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ (Maritime Logistics Institute) หรือ MLI เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นแหล่งรวบรวม พัฒนา และสร้างองค์ความรู้ด้านโลจิสติกส์ระหว่าง กทท. และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน คู่ค้า ลูกค้า สายการเดินเรือ ฯลฯ เพื่อเป้าหมายในการสร้างประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านการขนส่งสินค้าทางน้ำแบบครบวงจร สอดรับนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่ต้องการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเสริมสร้างพัฒนา ศักยภาพให้แก่บุคลากรในด้านต่างๆ เช่น ด้านกฎหมาย ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านภาษา รวมทั้งทักษะความรู้โดยตรงที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงาน

               สำหรับ MLI  มุ่งมั่นที่จะสร้างประเทศไทยให้เป็นผู้นำอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางน้ำผ่านการพัฒนา    องค์ความรู้จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการวิจัยแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ภายใต้อุดมการณ์ในการเพิ่มศักยภาพของประเทศด้วยการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถซึ่งจะมีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม                    โดยตั้งเป้าหมาย 4 เรื่อง ประกอบด้วย การบ่มเพาะให้พนักงานมีวิทยฐานะ ศักยภาพสูง ด้วยการพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตร ปริญญาตรี ปริญญาโทร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ รวมถึงการเป็นผู้นำการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อก้าวสู่การเป็นสมาร์ทพอร์ต พร้อมทั้งเป็นผู้บุกเบิกด้านอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางน้ำ รวมทั้งการจัดการองค์ความรู้ ระบบความร่วมมือด้านการวิจัย ร่วมกับลูกค้า คู่ค้า สมาคม สถาบันวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการเป็นหน่วยทดลอง (Sandbox) การดำเนินการด้วยสภาพแวดล้อมเสมือนจริง โดยทุกเป้าหมายมุ่งพัฒนาศักยภาพของพนักงาน รวมทั้งสร้างรายได้ สร้างโอกาส ความเชื่อมั่น และภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดขึ้นกับ กทท.

               “MLI เปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางที่บุคลากรทุกภาคส่วนของด้านการขนส่งทางน้ำมารวมตัวกัน เพื่อร่วมศึกษาและวิจัยในหัวข้อที่สำคัญในการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ของประเทศ อาทิ โครงการสนับสนุนและส่งเสริม       การขนส่งตู้สินค้าแบบถ่ายลำ (Transshipment) โครงการจัดตั้งเขตปลอดอากรของท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok  Free Zone) และโครงการส่งเสริมความร่วมมือในการบรรทุกขนถ่ายตู้สินค้าทางลำน้ำของท่าเรือกรุงเทพกับท่าเรืออนุญาตเอกชนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (Super River Port Business Partnership)            ซึ่งบทสรุปจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันเป็นการยอมรับซึ่งกันและกัน”ผอ.กทท.กล่าว

               นอกจากนั้น กทท. ยังมีแนวคิดที่จะต่อยอดโครงการที่ชนะเลิศการประกวดนวัตกรรมของพนักงานโดยสานต่อให้สามารถปฎิบัติงานได้อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ โครงการ PAT Smart Monitoring โดยใช้ APP Sheet และ Google Workspace สร้างระบบติดตามและรายงานผลโครงการลงทุนของการท่าเรือฯ โครงการ THE NEXT PAT โดยใช้โปรแกรม VBA (Visual Basic for Applications) สร้างระบบการบันทึกข้อมูลปริมาณเรือ ตู้สินค้า และสินค้าของ กทท. และโครงการ PAT FIT ที่ปรับรูปแบบการนำเสนอข้อมูลในกระดาษมาสู่การพิจารณาผ่านจอแบบเรียลไทม์ ที่เข้าใจง่าย ครอบคลุมในหลากหลายมิติ ลดความเสี่ยงในการตัดสินใจ อีกทั้งยังสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาเพื่อการยกระดับองค์กรในอนาคต โดยสถาบัน MLI จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดัน   ต่อยอดให้เกิดผลสำเร็จต่อไป

               ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวต่อว่า ” เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ในคราวที่ท่านมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางมามอบนโยบายและตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของ กทท. และเป็นโอกาสที่ดีที่ท่านได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดสถาบัน MLI โดยท่านได้กล่าวชื่นชม กทท. ที่ก่อตั้งสถาบันส่งเสริมองค์ความรู้ของพนักงานถือได้ว่าเป็นรากฐานของการยกระดับศักยภาพขององค์กร รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการ   บูรณาการร่วมกันระหว่าง กทท. และผู้ประกอบการทุกภาคส่วนเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน”

                                                 ———————————————-

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *