CPF มุ่งมั่นนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี ขับเคลื่อนองค์กรมุ่งสู่เป้าหมาย Net-Zero ภายในปี 2050    

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ประกาศขับเคลื่อนภารกิจมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ภายในปี 2050 ชูโรดแม็ป Smart Sourcing Smart Production และ Smart Consumption เดินหน้านโยบายจัดหาวัตถุดิบอย่างรับผิดชอบจากแหล่งไม่ตัดไม้ทำลายป่า นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต และมุ่งเน้นการบริโภคอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ บรรจุภัณฑ์พลาสติก ต้องสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือนำมาใช้ใหม่ หรือย่อยสลายได้ ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเป็นบริษัทแรกที่ประกาศยกเลิกใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน 100% สำหรับกิจการในประเทศไทย    

          นายพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผูู้จัดการบริหาร ด้านวิศวกรรมกลาง ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทฯ วางกลยุุทธ์เชิงรุกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบทางการเกษตรด้วยความรับผิดชอบ จากแหล่งที่ไม่บุกรุกป่าและไม่ตัดไม้ทำลายป่า (Smart Sourcing) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ประกาศนโยบายต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation) ร่วมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) การพัฒนาการผลิตให้เป็นระบบอัตโนมัติ ด้วยการใช้เทคโนโลยีด้านดิจิทัล (Smart Production) เพื่อรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดค่าใช้จ่ายการผลิต และในด้านการบริโภคอย่างยั่งยืน (Smart Consumption) บริษัทฯ มุ่งมั่นผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ โดยมีเป้าหมายในปี 2030 มีสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์สีเขียวมากกว่า 40 % ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งผลการดำเนินงานในปี 2022 มีสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์สีเขียวอยู่ที่ประมาณ 34 % ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1.483 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ซีพีเอฟมีเป้าหมายการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับบรรจุอาหารที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ นำมาใช้ใหม่ หรือสามารถย่อยสลายได้ 100%    

          นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ทำให้ในปัจจุบันเมื่อเทียบกับในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ซีพีเอฟ อยู่ในกลุ่มผู้นำ 5 บริษัทที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนมากที่สุดที่ 27 % ของการใช้พลังงานทั้งหมด แบ่งเป็น พลังงานจากก๊าซชีวภาพ (Biogas) พลังงานชีวมวล (Biomass) และพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar) ช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 680,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 73 ล้านต้น หรือ 360,000 ไร่ บริษัทฯ มีการใช้พลังงานชีวมวลจากไม้สับที่ผลิตจากไม้โตเร็ว ทดแทนการใช้ถ่านหินโดยตั้งเป้าหมายในปี 2022 จะยกเลิกการใช้ถ่านหินทั้งหมด ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 190,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี    

          อีกส่วนสำคัญที่มีผลต่อการมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซีพีเอฟเน้นนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต อาทิ การใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพ (Biogas) ในคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ 70 % และในฟาร์มสุกรของซีพีเอฟ 50-60 % การเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงทั้งหมดจากการใช้ถ่านหินมาเป็นการใช้พลังงานชีวมวล และการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบัน ได้ดำเนินการทำสัญญาติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปแล้วรวม 65 เมกะวัตต์ มีแผนจะติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในปี 2023 (พ.ศ.2566) รวมทั้งวางเป้าหมายติดตั้งให้ได้ถึง 100 เมกะวัตต์ ภายในปี 2025 (พ.ศ. 2568)  นอกจากการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนแล้ว  บริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาวิธีการผลิตและวิธีสำรวจการนำ “Green Hydrogen” มาใช้ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคตที่เป็นพลังงานสะอาด 100% มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า และพลังงานในกระบวนผลิตของโรงงาน ซึ่งไฮโดรเจนสีเขียวกรีนไฮโดรเจน เป็นเชื้อเพลิงในอนาคตที่สำคัญในการช่วยให้ CPF บรรลุเป้าหมาย Net – Zero ได้

          นายพีรพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ซีพีเอฟ มีความมุ่งมั่นชัดเจนในการขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) โดยได้ตั้งคณะทำงานบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ โดยขณะนี้บริษัทฯได้รวบรวมข้อมูลปี 2020 (พ.ศ 2563) สำหรับใช้เป็นปีฐาน และทำงานร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาในการวางแผนการดำเนินงาน (Roadmap) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจซีพีเอฟทั่วโลก  หลังจากที่ทำแผนแล้วเสร็จ จะนำข้อมูลทั้งหมดยื่นส่งองค์กร Science Based Target Initiatives ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อประกาศเป็นเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของซีพีเอฟต่อไป  

          “การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เป็นเป้าหมายที่ท้าทาย แต่เชื่อว่าในปัจจุบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งซีพีเอฟได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้เข้ามาใช้ในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยที่เรายังมีความมุ่งมั่นและเชื่อมั่นว่าจะมุ่งสู่เป้าหมาย Net-Zero ในปี 2050 ได้” นายพีรพงศ์ กล่าว

                                    ————————————-

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *