ม.ศิลปากร ลง MOU ซีพีเอฟ ยกระดับความร่วมมือทางวิชาการ ผลิตบัณฑิตคุณภาพ ก้าวทันโลกแห่งอนาคต   

มหาวิทยาลัยศิลปากร และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) เพื่อพัฒนาหลักสูตรผลิตบัณฑิตที่มีทักษะและมีความรู้ด้าน STEM  วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics)โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาเรียนรู้โดยลงมือปฏิบัติจริงในสถานประกอบการของซีพีเอฟ ผ่านโครงการ Co-Creation Program ซึ่งพิธีลงนาม มีนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ ลงนามร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร.ธนะเศรษฐ์ ง้าวหิรัญพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมี น.สพ. สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์น้ำ นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ และคณะผู้บริหารระดับสูงของ ม.ศิลปากร ร่วมด้วย ณ ห้องประชุมชั้น 30 ซี.พี.ทาวเวอร์ สีลม         

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ มีความมุ่งมั่นสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่บูรณาการองค์ความรู้และเน้นการปฏิบัติจริงมากขึ้น เพื่อให้นักศึกษามีความรู้และทักษะจากประสบการณ์จริง  เป็นบัณฑิตที่มีทักษะตรงตามความต้องการของธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาในการนำไปประยุกต์ในการทำงานเมื่อสำเร็จการศึกษา และเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนที่จะได้รับความคิดสร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่  ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับองค์กรเป็นผู้นำในการผลิตอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการ ราคาสมเหตุสมผล ด้วยกระบวนการผลิตประสิทธิภาพสูง โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากรในครั้งนี้  นับเป็นต้นแบบในการผนึกพลังกันเพื่อสร้างคน สร้างอนาคต และสร้างเครือข่าย  ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตอย่างมั่นคง และเป็น “ครัวของโลก” อย่างยั่งยืน สอดคล้องตามหลักปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืนของเครือซีพี ที่มุ่งดำเนินธุรกิจโดยก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และองค์กรตามลำดับ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรายึดถือปฏิบัติ           

      “เรามีความมั่นใจว่าโครงการนี้จะเป็นการเสริมสร้างทักษะให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัย มีความพร้อมที่จะเรียนรู้และทำงาน เรียนไปทำงานไป  นำความรู้จากการศึกษามาทดลองใช้จริง ได้เห็นปัญหาและแนวทางการแก้ไข  เป็นโครงการที่ตรงกับวิสัยทัศน์ของเครือซีพี โดยท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ มีนโยบายที่ชัดเจนว่าการดำเนินธุรกิจต้องมองประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ประชาชน และองค์กรก็จะได้ประโยชน์ด้วย  หวังว่าโครงการ Co-Creation Program จะเป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อสร้างให้เกิดประโยชน์กับนักศึกษาซึ่งเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญของประเทศ ” นายประสิทธิ์กล่าว       

          ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. ธนะเศรษฐ์ ง้าวหิรัญพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยฯ มุ่งมั่นพัฒนาหลักสูตรที่โดดเด่นให้บัณฑิตรู้จริงและทำงานจริง ซึ่งโครงการ Co-Creation Program เน้นความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนระหว่างมหาวิทยาลัยกับบริษัทเอกชนในรูปแบบ Work-Based Learning (WBL) ทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติจริง ผลิตบันฑิตพร้อมใช้ (Ready to Use) เมื่อสถานประกอบการรับเข้าทำงานแล้ว สามารถทำงานในตำแหน่งนั้นๆ ได้ทันที ไม่ต้องทดลองงาน ขอขอบคุณซีพีเอฟที่มอบโอกาสดีๆ ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศชาติ และความร่วมมือในครั้งนี้  นักศึกษาของมหาวิทยาลัยน่าจะได้รับประโยชน์หลายๆอย่าง ในความร่วมมือของมหาวิทยาลัยกับบริษัทเอกชน  ที่จะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและผลิตบัณฑิตที่มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21  โดยที่ซีพีเอฟใช้ศักยภาพของบริษัทมาพัฒนานักศึกษา  นอกจากนี้  ยังเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 80 ปี ของมหาวิทยาลัยที่จะเดินหน้าผลิตบัณฑิตคุณภาพเพื่อตอบแทนสังคมและประเทศชาติอย่างต่อเนื่องต่อไป  

          ทั้งนี้ การพัฒนาหลักสูตรที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างซีพีเอฟและมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นการพัฒนาหลักสูตรเพื่อร่วมผลิตบัณฑิตโดยผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ของซีพีเอฟ ที่จะร่วมพัฒนาการเรียนการสอนแก่นักศึกษาผ่านการฝึกปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ โดยนับเป็นการเรียนการสอนตามรายวิชาที่นักศึกษาสามารถนับหน่วยกิตในการศึกษาได้ เป็นประโยชน์กับทั้งสถาบันการศึกษาที่สามารถจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

          ในขณะเดียวกันซีพีเอฟสามารถรับนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ Co-Creation Program เข้าทำงานกับซีพีเอฟได้ทันทีหลังจากจบการศึกษา โดยมีหลักสูตรนำร่องด้านวิทยาศาสตร์ (Science) อาทิ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสัตวศาสตร์ ด้านเทคโนโลยี (Technology) หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร ด้านวิศวกรรมศาสตร์ (Engineering)หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ และหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ด้านคณิตศาสตร์ (Mathematics) อาทิ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการข้อมูล ภาควิชาคอมพิวเตอร์ ร่วมพัฒนาหลักสูตรด้าน Digital Skills “Data Science and Machine Learning”  เป็นต้น

                                            ———————————————

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *