“สมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย” ครบรอบ 21 ปี สร้างรากฐานแห่งความยั่งยืน ด้วยกลยุทธ์ “รีแบรนด์ก้าวสู่ความมั่นคง” มุ่งสร้าง “4 ค่านิยมหลัก TDIA” พร้อมพันธกิจแผน “3S” วาง Road Map “7 ทิศทาง” ครอบคลุมการดำเนินงานทุกมิติ สู่เป้าหมายการยกระดับภาพลักษณ์ธุรกิจขายตรงไทย ให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและทุกภาคส่วนธุรกิจ
สำหรับ สมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย (THAI DIRECT SALE INDUSTRIAL ASSOCIATION : TDIA) จดทะเบียนจัดตั้งสมาคมขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2544 เปิดดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 21 ปีด้วยความมั่นคง ขับเคลื่อนด้วย “วิสัยทัศน์” ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและปลูกฝังจิตวิญญาณ การเป็นผู้ประกอบการและนักธุรกิจขายตรงที่มีคุณธรรมและจรรยาบรรณเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภค พร้อมสนับสนุนบริษัทขายตรงและนักธุรกิจขายตรงที่มีคุณธรรมและจริยธรรมได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกและเดินหน้าทำธุรกิจบนความถูกต้อง ร่วมกันสร้างความดีตอบแทนสังคม อันจะนำไปสู่ภาพลักษณ์ที่ดีของวงการธุรกิจขายตรงโดยรวม สร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ
นายพงษ์กฤตย์ องค์ศิริวัฒนา นายกสมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย (THAI DIRECT SALE INDUSTRIAL ASSOCIATION : TDIA) คนใหม่ เปิดเผยว่า สำหรับปีนี้สมาคมฯมีนโยบายที่จะสานต่อวิสัยทัศน์เดิมของคณะกรรมการผู้ก่อตั้ง พร้อมมุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญด้วยกลยุทธ์ “รีแบรนด์ก้าวสู่ความมั่นคง” มีเป้าหมายเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมขายตรงและตอกย้ำความมั่นคงของสมาคมฯ สร้างความเชื่อมั่นให้กับบริษัทสมาชิก ภาครัฐและประชาชน
ทั้งนี้โดยจะมีการสื่อสาร “Core Values” หรือ “ค่านิยมหลัก” ของสมาคมฯ ได้แก่
T : TEAM WORK – ความสามัคคีของการทำงาน บนพื้นฐานความอบอุ่นเหมือนคนในครอบครัว
D : DEVELOPMENT – การพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีใหม่ในสมาคมฯและสมาชิกสมาคมฯ
I : INTEGRATION – เป็นศูนย์กลางในการบูรณาการความรู้ร่วมกันของภาครัฐ สมาชิกสมาคมฯ นักธุรกิจและผู้บริโภค
A : ACCOUNTANT – การดำเนินธุรกิจบนความรับผิดชอบและการช่วยเหลือสังคม
พร้อมทั้งมี แผนดำเนินงาน “พันธกิจ 3S” คือ 1. SUSTAINABLE ตอกย้ำการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนของสมาคมฯ 2. SHARING มุ่งเน้นการแบ่งปันข้อมูลและข่าวสารที่ดีในกลุ่มบริษัทสมาชิกสมาคมฯและผู้บริโภค 3. SERVICE เป็นศูนย์กลางความช่วยเหลือและประสานงานให้กับทุกฝ่าย ทั้งสมาชิกสมาคมฯ ภาครัฐ และประชาชนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้บรรลุพันธกิจที่วางไว้ โดยมี “Roadmap” ในการทำงานอยู่บน “7 ทิศทางสำคัญ” ได้แก่ 1.เน้น Create Branding TDIA มุ่งสร้างการรับรู้แบรนด์ของสมาคมให้มากขึ้น 2. ถ่ายทอดเจตนารมณ์ของสมาคม Core Value (Family & Warmth ความอบอุ่น) ที่มีความอบอุ่นความสามัคคีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไปสู่บริษัทฯ สมาชิกใหม่ 3. สร้างเครือข่ายทางธุรกิจใหม่ Business Matching ด้วยการเปิดรับสมาชิกใหม่จากกลุ่มธุรกิจอื่นเข้าสู่สมาคมฯ จากเดิมมีอยู่ประมาณกว่า 20 บริษัทให้เพิ่มขึ้นเท่าตัวในอนาคต 4. การทำ CSR กิจกรรมช่วยเหลือสังคมอย่างต่อเนื่อง 5. Learning & Growth เดินหน้าเป็นศูนย์กลาง ในการให้ความรู้เกี่ยวกับ Trend & Digital กลยุทธ์การปรับตัวในโลกปัจจุบันให้กับสมาชิกสมาคม 6.การปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบออนไลน์ ของสมาคมฯ ให้ทันสมัยและสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน 7.สานต่องานของสมาคมฯ ที่ทำอยู่ในอดีตให้เดินหน้าได้ต่อเนื่องและพัฒนาส่วนอื่นเพิ่มขึ้น
“การรีแบรนด์ในครั้งนี้ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลง “ตราสัญลักษณ์” (LOGO) เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของสมาคมฯ ให้ชัดเจนทันยุคสมัย MOOD&TONE ของสีหลักคือ “น้ำเงิน” ที่สื่อถึงความมั่นคง “ชมพู” สื่อถึงความโปร่งใสและทันสมัย ทั้งยังมีการปรับรูปแบบให้เห็นอักษรย่อ “TDIA” ให้ชัดเจนขึ้นอีกด้วย” นายกสมาคม TDIA กล่าว
ทางด้าน ณพวัฒน์ สัตย์เพริศพราย เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลา 21 ปีของการก่อตั้งสมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย ได้อยู่เคียงข้างสังคมไทยและช่วยยกระดับ พัฒนาอุตสาหกรรม ไปพร้อมกับการใส่ใจดูแลสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค และเน้นการส่งเสริมและแก้ปัญหาของประกอบการ 3 ด้าน 1.เพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับ “แบรนด์” 2.สร้างความเชื่อมั่น “คุณภาพ” ผลิตภัณฑ์ และ 3. การสร้างการรับรู้แบรนด์ TDIA Distributor Recognition ซึ่งการรีแบรนด์ “Corporate Brand ใหม่” องค์กรสู่ก้าวใหม่ ถือเป็นการปรับโครงสร้างองค์กรให้เป็นมากกว่าธุรกิจขายตรง และช่วยผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมขายตรงไทย ให้มีความมั่นคงและยั่งยืน
“ภายในสมาคมฯ เรามีการสานต่อนโยบายกันอย่างต่อเนื่อง เปลี่ยนผ่านจากเจเนอเรชั่นเก่ามาสู่เจเนอเรชั่นใหม่อย่างไม่มีสะดุด นำจุดแข็งทางประสบการณ์ของคนรุ่นเก่า มาเสริมและพัฒนาด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เป็นจุดแข็งของคนรุ่นใหม่ได้อย่างลงตัว ขณะที่ยังคงไว้ซึ่ง Core Value หลักของสมาคมฯ คือการอยู่ร่วมกันแบบเป็นครอบครัว เมื่อสมาชิกใหม่เข้ามา ทำให้สัมผัสได้ถึงความจริงใจและความอบอุ่น จนสร้างเป็นความเชื่อมั่นในการพัฒนาธุรกิจให้มีการเติบโตร่วมกันได้อย่างยั่งยืน”
สำหรับการพัฒนาในปีนี้ หัวใจสำคัญที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายการเป็น “ศูนย์กลางการเรียนรู้” ของทุกภาคส่วนให้ได้ “ระบบออนไลน์” คืออีกหนึ่งช่องทางสำคัญที่ต้องถูกพัฒนาโดยเร่งด่วน เพื่อพาธุรกิจก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลใน 3 แนวทาง ได้แก่ 1.แนวทางการทำการตลาด “ออนไลน์” 2.ข้อมูลการทำตลาด แบบตรง และ ขายตรง และ 3.การนำเสนอทักษะจำเป็นของนักขายอิสระ รวมไปถึงการเร่งพัฒนา ธุรกิจแพลตฟอร์มเครื่องมือออนไลน์ เพื่อช่วยติดอาวุธให้นักธุรกิจที่อยู่ในบริษัทสมาชิก ได้ใช้เป็นเครื่องมือควบคู่กับการทำธุรกิจระบบออฟไลน์ เพราะสมาคมฯเล็งเห็นถึงเทรนด์ของการตลาดโลกในยุคดิจิทัล ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เครื่องมือออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ทุกคนมีทักษะความเชี่ยวชาญและมีความรู้ด้านการตลาดออนไลน์อย่างถูกต้อง โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับ Certified Google เข้ามาดูแลและพัฒนาระบบอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอน
“ระบบออนไลน์ที่กำลังพัฒนา จะมีการอัพเดตเทรนด์การตลาดใหม่ๆ และความรู้ต่างๆ มาสู่คลังความรู้ของสมาคมฯอยู่ตลอดเวลา เพื่อพัฒนาศักยภาพของกลุ่มบริษัทสมาชิกและนักธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ในการสร้าง Connection เพื่อส่งเสริมกันต่อไปในอนาคต รวมถึงการจับคู่ธุรกิจ : MLM + Supplier จับมือกับภาคเอกชน เกี่ยวกับบริษัทเทคโนโลยี Blockchain ,Metaverse & Web 3.0 และการจับมือกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาส่วนสำคัญคือเว็บไซต์ของสมาคมฯ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น พร้อมสร้างโมบายแอปพลิเคชันให้สามารถรองรับการทำงานได้ในทุกแพลตฟอร์ม เพื่อรองรับบริษัทสมาชิกใหม่ทั้งในกลุ่มธุรกิจขายตรงและกลุ่มธุรกิจอื่น ที่จะเข้ามาร่วมสมาคมฯในอนาคตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการเสริมศักยภาพการทำงานของสมาคมฯ ด้วยการจับมือร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนอื่นๆ ในการขับเคลื่อนภาครวมของอุตสาหกรรมให้มีการเติบโตร่วมกัน” เลขาธิการสมาคม TDIA กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในยุคที่มีความผันผวนทางเศรษฐกิจสูง และมีวิกฤติสงครามเกิดขึ้นในระดับโลกจนทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ กระทบต่อปัญหาปากท้องของประชาชนไทย อุตสาหกรรมขายตรงยังคงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญของผู้บริโภค ที่จะใช้ในการสร้างอาชีพที่มั่นคงและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ซึ่งในช่วง 3-5 ปีนี้ อุตสาหกรรมขายตรงต้องรีบปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยเช่นกัน ทั้งในการพัฒนาเครื่องมือ ระบบ และนวัตกรรมใหม่ เพื่อสร้างคอมมูนิตี้ที่แน่นแฟ้นให้เกิดขึ้นในองค์กร ไม่ใช่เพียงเพื่อรองรับแค่คนกลุ่มเก่า แต่เพื่อรองรับคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะเข้ามาสู่อุตสาหกรรมด้วย เพื่อการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืนอย่างแท้จริง
———————————————–