ไทยได้รับเป็นเจ้าภาพครั้งแรกประชุม’MMRF’ระหว่างวันที่ 23-25 ส.ค.นี้ที่เชียงใหม่

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ครั้งแรกในรอบ 19 ปี  พาไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 หรือ MMRF5 ระหว่างวันที่ 23 – 25 ส.ค. 65 ที่จังหวัดเชียงใหม่ มอบกรมป่าไม้เตรียมความพร้อมจัดยิ่งใหญ่ มุ่งสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาค ร่วมบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน

            นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)  เปิดเผยว่า เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ในปี 2565 นี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้  ครั้งที่ 5 หรือ The Fifth APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry : MMRF5 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 23 – 25 สิงหาคม 2565 โรงแรมเลอ เมอริเดียน จังหวัดเชียงใหม่ โดยถือเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในประเทศไทยในรอบ 19 ปี และนับจากการจัดประชุมครั้งแรก ในปี 2007 ณ นครซิดนีย์เครือรัฐออสเตรเลีย การประชุม MMRF ถือเป็นเวทีการประชุมเพื่อสนับสนุนให้ทุกเขตเศรษฐกิจของเอเปค ให้ความร่วมมือระหว่างกันในด้านวิชาการเทคนิค เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้เกิดความยั่งยืน และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านการป่าไม้ในแต่ละเขตเศรษฐกิจ ดังนั้น การมารวมตัวกันของเขตเศรษฐกิจจากทั่วโลก จึงเป็นเวทีที่สำคัญในการที่จะแสวงหาความร่วมมือในการร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อคนรุ่นเราและลูกหลานของเราในอนาคต

          “จากการประชุม MMRF5 ที่มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ของกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อนำไปสู่การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ดังนั้น สำหรับท่าทีของประเทศไทย โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการโดยอ้างอิงจาก Theme การประชุม APEC 2022 THAILAND คือ “OPEN. CONNECT. BALANCE.” และถือโอกาสใช้เวทีแห่งนี้เรียกร้องและกระตุ้นให้สมาชิกเอเปคก้าวข้ามความขัดแย้งหันมาให้ความร่วมมือส่งเสริมและพัฒนา โดยเน้นให้เห็นถึงทางเลือก (Scenario) ใน 3 ทางเลือกหลัก คือ หนึ่ง ทางเลือกโดยการดำเนินการตามธุรกิจปกติ (Business-as-usual) ซึ่งหากพิจารณาตามแนวโน้มในปัจจุบัน ยังคงต้องประสบกับปัญหาที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขอีกมาก สอง ทางเลือกแบบท้าทาย (Aspiration) สมาชิกเอเปคทุกเขตเศรษฐกิจร่วมกันกำหนดเป้าหมาย โดยอาศัยหมุดหมายหลักเป็นจุดอ้างอิงให้บรรลุเป้าหมาย เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ข้อตกลงปารีสด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลงมือปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และสาม ทางเลือกที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง (Disruptive)” นายจตุพร กล่าว

          นายจตุพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกัน นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ยังมีแนวคิดที่จะผลักดันแนวความคิดเรื่อง BCG Model ไปยังกลุ่มสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค พร้อมผลักดันการจัดทำเครื่องมือที่เหมาะสมในการส่งเสริมการค้าไม้ที่ถูกกฎหมายและต่อต้านการค้าไม้ผิดกฎหมายและการดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การรับรอง (Certificate) การตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ (Timber Legality Assurance System) ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมป่าไม้ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน รวมถึงหยุดยั้งการสูญเสียป่าไม้และความเสื่อมโทรมของที่ดินสร้างความสมดุลระหว่างการปล่อยและการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกและรักษาไว้ซึ่งการบริการของระบบนิเวศ ร่วมกับ 143 ประเทศ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 จากที่ให้ประเทศไทยเข้าร่วมปฏิญญากลาสโกว์ของผู้นำด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน

          ขณะที่การเตรียมความพร้อมการจัดประชุม นายจุตพร กล่าวว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.ได้มอบหมายให้กรมป่าไม้เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ ด้วยจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในการแสดงออกถึงการให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาด้านป่าไม้ ซึ่งมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 300 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีซึ่งรับผิดชอบในภารกิจด้านการป่าไม้จากกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ APEC Secretariat, APEC Business Advisory Council, ASEAN Secretariat, The PECC International Secretariat และ Pacific Islands Forum Secretariat รวมถึงแขกรับเชิญ ผู้สังเกตการณ์ และผู้เข้าร่วมจัดนิทรรศการจากภาคส่วนต่าง ๆ

          “ในการนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดให้มีช่องทางแก่ผู้ที่สนใจในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมระดับรัฐมนตรีป่าไม้ในครั้งนี้ในหลากหลายช่องทาง เช่น การแถลงข่าวในระดับกระทรวง การติดตามจากหน้าเว็บไซต์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานในสังกัด ตลอดจนสื่อประชาสัมพันธ์ทั้งในรูปแบบออนไลน์และสื่อสิ่งพิมพ์ อีกทั้ง ผู้ที่สนใจสามารถเดินทางไปเยี่ยมชมนิทรรศการของการประชุมด้วยตนเอง ณ โรงแรมเลอเมอริเดียน จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ ผลจากการประขุมในครั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คาดหวังว่าจะเป็นโอกาสที่คนไทยจะได้รับทราบว่าโลกภายนอก  มีการขับเคลื่อนด้านการจัดการทรัพยากรป่าไม้ อย่างไร มีการวางเป้าหมาย วางระเบียบ กฎเกณฑ์ ตลอดจนเทคโนโลยีอย่างไรบ้างในการจัดการทรัพยากรป่าไม้” นายจตุพร กล่าว

                                      ————————————————–

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *