กฟผ. และรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจด้านธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า และธุรกิจ Smart Energy Solutions มุ่งเสริมสร้างประสิทธิภาพความมั่นคงในการผลิตและส่งจ่ายกระแสไฟฟ้า และกิจการไฟฟ้าให้ยั่งยืน
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายจันทะบูน สุกอาลุน ผู้อำนวยการใหญ่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจด้านธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า และธุรกิจ Smart Energy Solutions โดยมี ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ และนายวิละพอน วิสุนนะลาดรองผู้อำนวยการใหญ่ EDL ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน มีผู้บริหารจากทั้งสองหน่วยงาน พร้อมด้วยบริษัท ผลิต-ไฟฟ้าลาว (มหาชน) และบริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 3 พาวเวอร์ จำกัด เข้าร่วมในพิธี ณ สำนักงานใหญ่ EDL กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ประเทศไทยและ สปป.ลาว เริ่มต้นความสัมพันธ์ด้านพลังงานไฟฟ้ามาอย่างยาวนานเกือบ 60 ปี ทั้งการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า การพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้า การซื้อขายไฟฟ้า การแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านเทคนิควิศวกรรม งานวิชาการ การพัฒนาบุคลากรระหว่างหน่วยงาน โดยความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างสองประเทศช่วยส่งเสริมให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสานต่อความร่วมมือในการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้าของทั้งสองประเทศให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจในวันนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่รัฐวิสาหกิจของสองประเทศจะได้แบ่งปันศักยภาพ สร้างความร่วมมือในด้านพลังงานให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น กฟผ. จะนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ ไม่เพียงแต่เฉพาะความรู้ทางด้านเทคนิควิศวกรรม งานบำรุงรักษา งานโทรคมนาคม งานวิชาการ และการพัฒนาบุคลากร แต่ยังรวมไปถึงโอกาสในการพัฒนาระบบจัดการระบบไฟฟ้า Smart Energy Solutions ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่สอดรับกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในอนาคต โดยไทยได้เริ่มเดินหน้าเรื่องนี้กันอย่างเต็มที่จึงคาดว่าจะสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ สปป.ลาว เพื่อขยายการดำเนินงานไปยังประเทศอื่น ๆ ซึ่ง กฟผ. พร้อมให้ความร่วมมือและยินดีที่จะเคียงข้างอย่างเกื้อกูลกันต่อไป
นายจันทะบูน สุกอาลุน ผู้อำนวยการใหญ่ EDL กล่าวว่า หากทั้งสององค์การมีความร่วมมือทางธุรกิจจะสามารถต่อยอดการดำเนินงานได้หลายด้าน อาทิ ระบบ Fiber Optic ซึ่งประเทศไทย และ สปป.ลาว ใช้ระบบดังกล่าวทั้งในประเทศและเชื่อมโยงระหว่างกัน รวมถึง สปป. ลาว ยังมีการเชื่อมโยงกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เวียดนาม และกัมพูชา
ทั้งนี้จึงเชื่อว่าจะสามารถขยายเป็นธุรกิจด้านโทรคมนาคมร่วมกันได้ ส่วนธุรกิจเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า (Operation and Maintenance หรือ O&M) ปัจจุบัน สปป.ลาว มีเขื่อนประมาณ 80 แห่งทั่วประเทศ และมีอุปกรณ์ไฟฟ้าจำนวนมาก ดังนั้นในอนาคตอันใกล้งานเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าจะมีความต้องการสูง จึงเป็นโอกาสที่จะได้ร่วมกันพัฒนาการดำเนินงานตามมาตรฐานสากล และพัฒนาทรัพยากรบุคคลของ EDL ด้วย สุดท้ายในด้านของ Smart Energy Solutions เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องร่วมมือกันพัฒนาต่อยอด โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ จะนำไปสู่การศึกษารายละเอียดการดำเนินงาน หากมีเรื่องใดที่สามารถพัฒนาต่อยอดได้ ก็พร้อมยินดีที่จะร่วมมือกับ กฟผ. ต่อไป
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ครอบคลุมธุรกิจจำนวน 3 ด้าน ได้แก่ 1) ธุรกิจโทรคมนาคม กฟผ. และ EDL จะร่วมกันพัฒนาธุรกิจโทรคมนาคมใน สปป.ลาว โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของแต่ละฝ่ายให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงโครงข่าย Fiber Optic ระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว 2) ธุรกิจเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า ซึ่งจะร่วมกันแสวงหาโอกาสพัฒนาธุรกิจการให้บริการงานเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว ต่อไป อาทิ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 3 3) เรื่อง Smart Energy Solutions กฟผ. และ EDL จะแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบ Smart Energy Solutions ในส่วนของสมาร์ทไมโครกริดและแสวงหาพื้นที่ที่มีศักยภาพใน สปป.ลาว ที่สามารถพัฒนาต่อยอดระบบดังกล่าวได้ โดยผู้แทนของสองประเทศจะร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ ทรัพยากร และข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ทั้งนี้บันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีกรอบระยะเวลาความร่วมมือเป็นเวลา 3 ปี
—————————————-