“บ้านโป่งทาปิโอก้า” Disrupt ตัวเองทรานฟอร์มธุรกิจจากโรงงานผลิตแป้งมันเป็น “Texture House Company”

บริษัทบ้านโป่งทาปิโอก้า จำกัด บริษัทครอบครัวที่ Disrupt ตัวเองผ่านการทรานฟอร์มธุรกิจ เปลี่ยนโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังอายุครึ่งศตวรรษ เป็น Texture House Company ให้บริการ Texture Solution เพื่อเข้าไปช่วยแก้ Pain Points ให้กับทุกอุตสาหกรรมที่มีปัญหาเกี่ยวกับเนื้อสัมผัส  โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการพัฒนา Carbohydrate-based ingredients Solution ป้อน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมยา และ กลุ่มอุตสาหกรรมกระดาษ รุกตั้งสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ รองรับการเติบโตของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ เปิดตัวผลิตภัณฑ์แป้งนวัตกรรมสำเร็จรูป ภายใต้แบรนด์บ้านโป่งฟูจิซัง เจาะตลาด SMEs และไลฟ์สไตล์ เผยขับเคลื่อนธุรกิจบนพื้นฐานการวิจัยและพัฒนา นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อบริหารจัดการกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ภายใต้กระบวนการผลิตอย่างยั่งยืน

นายประสิทธิ์ สุขสมิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบ้านโป่งทาปิโอก้า จำกัด เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของบริษัทว่า เกิดขึ้นจากการทรานฟอร์มธุรกิจดั่งเดิมของครอบครัว คือ บริษัทอุตสาหกรรมแป้งมันบ้านโป่ง จำกัด ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี ค.ศ. 1973 หรือ 50 ปีที่ผ่านมา เพื่อแปรรูปมันสำปะหลังเป็นแป้งมันสำปะหลัง ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบริษัทเติบโตและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องมาตามลำดับ ท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง ในประเทศไทยที่มีมากกว่า 80 บริษัท

“เมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา เรามีการหารือกันในกลุ่มผู้บริหาร เกี่ยวกับวิสัยทัศน์และทิศทางการเติบโตของบริษัทในอนาคต ว่าจะส่งต่อให้กับทายาทรุ่นต่อไปอย่างไร ซึ่งก็ได้ข้อสรุปที่ตรงกันว่าหากอยากจะเติบโตมากกว่านี้ เราจะคิดและทำแบบเดิมเดิม เหมือนที่ผ่านมาไม่ได้ และนี่คือจุดเริ่มต้นของการ Disrupt ตัวเองของเรา จนกระทั่งเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว บริษัทก็ได้ตัดสินใจลงทุนเทคโนโลยีและสร้างโรงงานใหม่เพื่อเริ่มต้นผลิตแป้งสำหรับ Food Texture Solution ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของบริษัท”

นายแพทย์สมิทธิ์ สุขสมิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายงานนวัตกรรม บริษัทบ้านโป่งทาปิโอก้า จำกัด กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันบ้านโป่งทาปิโอก้า มีพนักงานจำนวน 550 คน ในจำนวนนี้ เป็นพนักงานในส่วนของ R&D ประมาณ 45 คน มีโรงงาน 11 แห่ง มีลูกค้ากว่า 200 ราย กระจายอยู่ใน 21 ประเทศทั่วโลก

“ในช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่า บ้านโป่งทาปิโอก้า มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยยอดขายรวมในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาก สูงกว่าการดำเนินธุรกิจในช่วง 30 ปี แรกของบริษัท ซึ่งเป็นผลมาจากมูลค่าของสินค้าที่ขายนั้นเพิ่มขึ้นจากการขายแป้งมันแบบดังเดิมหลายเท่าตัว ซึ่งในวันนี้แป้งมันแบบดั่งเดิมที่เคยเป็นสินค้าหลักของบริษัทมา กว่า 40 ปี มีมูลค่าเหลือเพียง 10% ของยอดขายรวมทั้งหมด ทำให้เรามีความมั่นใจว่าเดินมาถูกทางแล้ว” นายแพทย์สมิทธิ์กล่าวพร้อมเพิ่มเติมว่า

ปัจจุบัน บ้านโป่งทาปิโอก้า ผลิตสินค้าเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าใน 3 กลุ่มตลาด ได้แก่ กลุ่มแรกอุตสาหกรรมอาหาร (Food Industry) โดยการพัฒนาเนื้อสัมผัสในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ความนุ่ม แน่นเนื้อ กรอบ แข็ง เปราะ ฉ่ำ เนียน หยาบ เหนียว และ ความเป็นเส้นใย เป็นต้น

กลุ่มที่สองคือ อุตสาหกรรมยา (Pharma Industry) ได้แก่การพัฒนาแป้งที่นำไปเป็นส่วนผสมในยารักษาโรค ตลอดจนนำไปใช้กลุ่ม Specialized Nutrition Need อย่างเช่น อาหารด้านสุขภาพ อาหารทดแทน รวมไปถึงอาหารทางการแพทย์ หรืออาหารเฉพาะสำหรับผู้ป่วยในกลุ่มต่างๆอาทิ ผู้ป่วยโรคไต เบาหวาน มะเร็ง ฯลฯ

กลุ่มที่สาม อุตสาหกรรมกระดาษ (Paper  Industry) โดยพัฒนาแป้งให้มีคุณสมบัติ เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในขั้นตอนการขึ้นรูป เพิ่มความแข็งแรง และการเคลือบผิวหน้ากระดาษ เป็นต้น

นายปริญญ์ สุขสมิทธิ์ ผู้จัดการส่วนงานพัฒนาธุรกิจ บริษัทบ้านโบ่งทาปิโอก้า จำกัด ทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัทกล่าวเสริมว่า สิ่งที่บ้านโป่งทาปิโอก้า ต้องการสื่อสารกับตลาด และส่งมอบให้กับลูกค้า ไม่ใช่ความเป็นผู้เชี่ยวชาญในการแปรรูปมันสำปะหลัง แต่เป็นการนำเสนอองค์ความรู้ด้านโครงสร้างของคาร์โบไฮเดรต ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับเนื้อสัมผัสให้กับผลิตภัณฑ์ของลูกค้า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

การตั้งสำนักงานในกรุงเทพฯ ของบริษัทในวันนี้ ก็เพื่อรองรับกิจกรรมต่างๆที่จะทำร่วมกับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยสำนักงานในกรุงเทพของบริษัท จะเป็นศูนย์กลางการให้บริการ ตลอดจนเป็นที่ตั้งของแลปวิจัย สถานที่ทำเวิร์กช็อปท์ ระหว่างบริษัทกับลูกค้าหรือ ระหว่างบริษัทกับตัวแทนจำหน่ายที่มีอยู่ใน 20 ประเทศ เพื่อนำโจทย์หรือปัญหาเกี่ยวกับเนื้อสัมผัสมาศึกษาและมองหาโซลูชั่นในการแก้ปัญหาร่วมกัน  

ในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ บ้านโป่งทาปิโอก้า ยังได้พัฒนาแป้งนวัตกรรมสำเร็จรูปที่เข้าไปตอบโจทย์ผู้ประกอบการ SMEs และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ ภายใต้แบรนด์บ้านโป่งฟูจิซัง ซึ่งสินค้าในรูปแบบดังกล่าวนอกจากเพื่อการทดลองและเปิดตลาดใหม่ๆแล้ว ยังใช้เป็นสื่อกลางในการให้ความรู้กับตลาดและเป็นสะพานเชื่อมให้กลุ่มเป้าหมาย หรือ ธุรกิจที่กำลังมองหาโซลูชั่นที่จะเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องเนื้อสัมผัส สามารถเข้าถึงบริษัทได้ง่ายขึ้น

นายกิตติ สุขสมิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายซัพพลายเชน บริษัทบ้านโป่งทาปิโอก้า จำกัด กล่าวเสริมว่า ในการผลิตแป้งนวัตกรรมชั้นสูงของบ้านโป่งทาปิโอก้านั้น นอกจากการทุ่มเทพัฒนาและวิจัยอย่างต่อเนื่องในห้องแลปแล้ว บริษัทก็ยังให้ความสำคัญต่อตัววัตถุดิบที่นำมาผลิตไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะวัตถุดิบที่ดีจะช่วยเสริมให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ปัจจุบันบริษัทใช้ มันสำปะหลังสายพันธุ์พิเศษ  มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตแป้งลูเซนท์ (LUCENT) ชนิดต่างๆ ซึ่งจุดเด่นของมันสายพันธุ์พิเศษนี้เมื่อมาบวกกับการวิจัยของบ้านโป่งทาปิโอก้า ทำให้ได้แป้งที่ผลิตออกมามีคุณสมบัติเทียบเท่ากับแป้งจากมันฝรั่งที่ขึ้นชื่อว่าเป็นวัตถุดิบราคาแพง

“ปัจจุบันเรามีการส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายปลูกมันสายพันธุ์พิเศษและรับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด 150% ผ่านรูปแบบคอนแทร็กฟาร์มมิ่ง โดยเกษตรกรที่เข้ามาเป็นสมาชิกภายใต้เครือข่ายดังกล่าว จะได้รับการดูแลจากบริษัท อย่างครบวงจร เริ่มตั้งแต่ การเพาะท่อนพันธุ์ ให้กับเกษตรกรเพื่อนำไปใช้ในการปลูก ระหว่างทางก็จะมีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยดูและให้คำปรึกษา จนกระทั่งถึงช่วงของการเก็บเกี่ยว ขนส่ง ผลผลิตเข้าสู่โรงงาน

ทั้งนี้การดำเนินงานดังกล่าวนอกจากจะเข้ามาช่วยลดภาระของเกษตรกรแล้ว ยังจะช่วยให้บริษัทมีโอกาสได้เข้ามาควบคุมคุณภาพการเพาะปลูกได้โดยตรงแล้วยังสามารถนำมาใช้ในการวางแผนการผลิตภายในบริษัทได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังได้เริ่มมีการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบทางการเกษตร ในกลุ่มธัญพืช เพื่อนำมาพัฒนาเป็นแป้งที่มีมูลค่าสูง อย่างเช่นถั่วเขียว ถั่วขาว และข้าว เป็นต้น

ตลอดระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจ บริษัทบ้านโป่งทาปิโอก้า เรายังให้ความสำคัญกับการผลิตที่คำนึงถึงความยั่งยืนตามหลักของ BCG Model ดังจะเห็นได้ว่าในกระบวนการแปรรูปมันสำปะหลังของบริษัทไม่มีส่วนใดที่เหลือทิ้งเลย ทุกส่วนของมันสำปะหลังนำมาใช้หมุนเวียนและเพิ่มมูลค่าในระบบเศรษฐกิจภายในชุมชนและบางส่วนก็แปลงกลับมาเป็นรายได้ให้กับบริษัท เช่น มีการใช้ประโยชน์จากน้ำเสียเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ ส่วนกากมันสำปะหลังขายเพื่อเป็นอาหารสัตว์ หรือแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรนำไปเพาะเห็ด รวมถึงนำไปวิจัยและพัฒนาเป็นสินค้าในกลุ่มไลฟ์สไตล์ เช่น ทรายแมวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม   โดยรวมแล้วในแต่ละปีบริษัทมีรายได้จากการนำของเหลือใช้ไปเพิ่มมูลค่าปีละประมาณ 2-3% ของยอดขาย รวมถึงยังมีรายรับจากการขายคาร์บอนเครดิตปีละกว่าหนึ่งล้านบาท

                                           ———————————

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *