นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยม มอบนโยบาย และหารือประเด็นเพิ่มศักยภาพของพื้นที่รองรับสินค้าอุตสาหกรรมนำเข้าส่งออกของท่าเรือแหลมฉบัง ในคราวเดินทางไปตรวจราชการ ณ จังหวัดชลบุรีและระยอง โดยเร่งรัดโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 การเชื่อมโยงขนส่งสินค้าหลายรูปแบบ และแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของ ทลฉ.
วันนี้ (4 พฤศจิกายน 2566) เมื่อเวลา 11.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการปฏิบัติงาน ทลฉ. พร้อมด้วยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายพงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายศุภนิจ จัยวัฒน์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และคณะตรวจราชการ ร่วมลงพื้นที่ฯ โดยมีนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) คณะผู้บริหารและพนักงาน กทท. นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ผู้นำส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ บริษัทผู้รับเหมา และประชาชนให้การต้อนรับ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง
นายกรัฐมนตรีได้เดินทางโดยรถไฟขบวนพิเศษจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ไปยังสถานีรถไฟแหลมฉบัง จากนั้นคณะรับฟังบรรยายสรุปจากนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. เกี่ยวกับภาพรวมและผลการดำเนินงาน ความคืบหน้าโครงการพัฒนาสำคัญ เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โครงการการพัฒนาศูนย์กลางการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ฯลฯ รวมทั้งแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของ ทลฉ. แผนปรับปรุงถนนการจราจรภายใน ทลฉ. ฯลฯ
โดยนายกรัฐมนตรีกำชับให้ กทท. เร่งดำเนินการโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 อย่างเร่งด่วน “การพัฒนา ทลฉ. มีความสำคัญในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ หากมีส่วนใดที่ไม่เป็นไปตามแผนก็ขอให้เร่งรัดติดตามแก้ไขให้แล้วเสร็จและบริหารสัญญากับผู้ประกอบการให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติงานของโครงการ เพื่อเพิ่มความมั่นใจในศักยภาพของประเทศไทยและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่างประเทศ”
สำหรับการดำเนินโครงการขณะนี้ความคืบหน้างานจ้างเหมาก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ส่วนที่ 1 ผู้รับจ้างฯ ได้ส่งมอบพื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 1 และ 2 เรียบร้อยแล้ว สำหรับพื้นที่ถมทะเล พื้นที่ 3 คาดว่าจะส่งมอบภายในเดือนมิถุนายน 2567 และสามารถส่งมอบพื้นที่ F1 ของโครงการฯ ให้แก่บริษัทเอกชนคู่สัญญาได้ภายในปลายปี 2568 และกำหนดแล้วเสร็จทั้งโครงการฯ ในปี 2569 โดยจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ถึง 18 ล้าน ทีอียู จากเดิม 11.10 ล้าน ทีอียู
นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากนี้ให้ กทท. พิจารณาให้ความสำคัญกับการขนส่งสินค้าหลายรูปแบบ Multi-modal โดยให้เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรางที่ ทลฉ. จากวันละ 24 เที่ยว เพิ่มเป็นวันละ 30 เที่ยว รวมทั้งผลักดันขีดความสามารถการขนส่งทางรถไฟจากปัจจุบัน 4 แสน ทีอียู เพิ่มเป็น 5 แสน ทีอียู. เนื่องจากการขนส่งทางรางจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์”
อย่างไรก็ตาม ได้เน้นให้ กทท. เพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง และการแก้ไขปัญหาการจราจรภายในท่าเรือและบริเวณโดยรอบอีกด้วย
————————————————