อธิบดีกรมหม่อนไหมประกาศ“เกษตรกรต้องกินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้หมด”

สัมภาษณ์พิเศษ

พันจ่าเอกประเสริฐ  มาลัย อธิบดีกรมหม่อนไหม

เกษตรกรต้องกินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้หมด

กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรมที่มีความเป็นพิเศษ ที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๐ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ อาคารที่ทำการสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ บริเวณเกษตรกลางบางเขน เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๐ ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๕๑ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการสมควรจะยกฐานะสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เป็น “กรมหม่อนไหม เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙” เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๑ จนกระทั้งปีพ.ศ.๒๕๕๔ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินทรง  เปิดอาคารที่ทำการกรมหม่อนไหม เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๔ มีอธิบดีบริหารจัดการมีความเจริญก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่องจนกระทั้งปัจจุบัน พันจ่าเอกประเสริฐ มาลา  มีนโยบาย แผนงานอย่างไรนั้นท่านให้สัมภาษณ์ไว้ดังนี้…

 ในปี 2567 ทางกรมหม่อนไหมมีนโยบาย และแผนการขับเคลื่อนสำคัญโดยมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนเกษตรกรให้ได้ไม่น้อยกว่า 1,000 ราย พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรหม่อนไหมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกษตรกรต้อง “กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้หมด”  โดยมีแนวทางการดำเนินงาน  ให้ความสำคัญกับต้นน้ำ ในการส่งเสริมให้เกษตรกรรายใหม่และฟื้นฟูเกษตรกรหม่อนไหมรายเดิมให้หันกลับมาปลูกหม่อนและเลี้ยงไหมมากยิ่งขึ้น โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับกรมต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ สปก. และ คทช. รวมทั้งวางแผนการผลิตและการตลาดร่วมกับภาคเอกชนภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา เพื่อสร้างความเชื่อมั่น

โดยส่งเสริมและพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์หม่อนไหมและเส้นไหมให้ได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตเส้นไหมและผ้าไหมให้มีคุณภาพและเพียงพอต่อกับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทาน ซึ่งเป็นมาตรฐานผ้าไหมไทยที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ได้พระราชทานไว้ โดยเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปัจจัยการผลิตพันธุ์หม่อน ไข่ไหม ให้มีคุณภาพมีผลผลิตสูง เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลง และเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรที่ขอรับบริการ

  นอกจากนี้จะเน้นพัฒนา/ปรับปรุงพันธุ์หม่อน พันธุ์ไหม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าหม่อนไหมให้บริการแก่เกษตรกรได้อย่างเพียงพอ พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานด้านหม่อนไหมในพื้นที่โครงการพระราชดำริต่าง ๆ และขยายผลโครงการไปสู่ชุมชน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และประกอบอาชีพในถิ่นฐานของตนเอง และส่งเสริมและแสวงหาตลาดผ้าไหมและผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหม ให้แพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ

ส่วนด้านของการสร้าง “สินค้ามูลค่าสูง” โดยทางกรมฯ มีการวางแผนหรือจัดทำสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม เช่น การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเกษตรกร ซึ่งกรมหม่อนไหมได้ขับเคลื่อนงานส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้กับเกษตรกรทั้งในส่วนของการเลี้ยงไหมหัตถกรรมและการเลี้ยงไหมอุตสาหกรรมของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผ่านกลไกการเรียนรู้ต่าง ๆ ทั้งการถ่ายทอดผ่านปราชญ์หม่อนไหม การจัดทำแปลงเรียนรู้ ฐานการเรียนรู้กระบวนการผลิต รวมทั้ง ให้ความสำคัญในการพัฒนาเกษตรกรให้สามารถผลิตสินค้าหม่อนไหมที่มีมูลค่าสูงตามหลัก ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ 

ทั้งนี้โดยในภาพรวมได้วางกรอบแนวทางไว้ในส่วน “ตลาดนำ โดยจับมือกับภาคเอกชน ส่งเสริมการทำเกษตรพันธสัญญา ระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตและผู้รับซื้อ เพื่อให้เกษตรกรมีตลาดรองรับที่แน่นอน ควบคู่กับการเร่งสร้างเกษตรกรรายใหม่ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลน เส้นไหม/รังไหม และเชื่อมโยงตลาดเฉพาะ อาทิ สถาบันเสริมความงาม โรงพยาบาล อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ เพื่อให้สินค้าและผลิตภัณฑ์หม่อนไหมมีตลาดใหม่ๆ รองรับอย่างต่อเนื่อง

ส่วน “นวัตกรรมเสริม โดยการพัฒนา/ปรับปรุงพันธุ์หม่อน พันธุ์ไหม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าหม่อนไหมให้บริการแก่เกษตรกรได้อย่างเพียงพอ ,ส่งเสริมและสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พร้อมใช้ ผ่านกระบวนการจัดการความรู้และความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย,พัฒนาอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และรองรับเกษตรกรสูงวัย และ วางแผนการผลิตไหมวัยอ่อนให้บริการเกษตรกรเพื่อลดเวลาและแรงงาน รวมถึงควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรค ทำให้รังไหมมีคุณภาพดี ผลผลิตสูง

ด้าน เพิ่มรายได้สร้างโอกาสให้กับเกษตรกรมีทางเลือกใหม่ๆ โดยการขยาย Value Chain ของสินค้าหม่อนไหม โดยการเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์แปรรูปกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาคบริการ ประสานความร่วมมือกับจังหวัด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการเชื่อมโยงสินค้าและผลิตภัณฑ์หม่อนไหมกับเส้นทางการท่องเที่ยว

อธิบดีกรมหม่อนไหม ยังได้กล่าวถึง เรื่องของสายพันธุ์หม่อน-สายพันธุ์ไหม ปัจจุบันมีการพัฒนาและสร้างความมั่นคงอย่างไรให้กับเกษตรกร หรือกลุ่มผู้ทอผ้า เพราะสิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยตั้งต้นของการประกอบอาชีพ ว่า กรมหม่อนไหมมีหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการอนุรักษ์เอกลักษณ์ไหมไทยทั้งระบบและพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ด้านหม่อนไหม โดยในด้านการอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมหม่อนซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเชื้อพันธุกรรมหม่อนถือเป็นแหล่งวัตถุดิบต้นน้ำในกระบวนการผลิตผ้าไหม ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างเป็นระบบและจริงจัง การดูแลรักษาเชื้อพันธุ์ ให้บริสุทธิ์พร้อมใช้ประโยชน์ ถือเป็นหัวใจสำคัญต่อขบวนการผลิตหม่อนไหมของประเทศ เชื้อพันธุกรรมหม่อนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านการจำแนกพันธุ์/ชนิด การปรับปรุงพันธุ์ การผลิตพันธุ์อย่างยั่งยืน รวมถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ  ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนายกระดับอาชีพหม่อนไหมทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ การดูแลรักษาเชื้อพันธุกรรมหม่อน ถือเป็นการดูแลรักษาสมบัติของชาติ  โดยได้ดำเนินการรวบรวมและอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมของพันธุ์หม่อนที่มีในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน โดยดำเนินงานภายใต้โครงการศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมหม่อนและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพหม่อน ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก อาทิ การเขตกรรมเพื่อดูแลรักษาพันธุ์หม่อน การรวบรวมข้อมูลลักษณะประจำพันธุ์ ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ สัณฐานวิทยา ลักษณะทางการเกษตรเพื่อจัดทำระบบฐานข้อมูลพันธุ์หม่อน และการจัดนิทรรศการหรือพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ด้านหม่อนที่ศูนย์ดำเนินการอนุรักษ์เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่และบริการข้อมูลองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมหม่อน

  นอกจากนี้กรมหม่อนไหมยังได้ดำเนินงานโครงการธนาคารเชื้อพันธุกรรมไหม โดยมุ่งเน้นในด้านการเลี้ยงอนุรักษ์พันธุ์ไหม การจำแนกความแตกต่างหรือความใกล้ชิดทางพันธุกรรมของพันธุ์ไหมเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนของสายพันธุ์ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2554 – 2565 โดยได้เลี้ยงอนุรักษ์และฟื้นฟูเชื้อพันธุกรรมและคัดเลือกพันธุ์ไหมอนุรักษ์ ส่งตรวจสอบและวิเคราะห์ลายพิมพ์ดีเอ็นเอทั้งหมด ทำให้ได้ใช้ประโยชน์ในการคัดกรองความซ้ำซ้อนของพันธุ์ไหม ทำให้สามารถใช้คัดเลือกหาพ่อแม่พันธุ์ที่แท้จริง และใช้ในการคัดเลือกพันธุ์ที่มีคุณลักษณะที่ดีเหมาะสมในการนำมาใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจจากฐานความหลากหลายทางชีวภาพ สามารถใช้ในการทำแผนที่จีโนม (genome mapping) ร่วมกับเครื่องหมายพันธุกรรมอื่น ๆ เพื่อค้นหาตำแหน่งของยีนที่เกี่ยวข้องกับลักษณะที่สนใจ เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ต่อไป รวมถึงมีกิจกรรมในส่วนของการวิเคราะห์หาปริมาณโปรตีนเซริซีนของไหมชนิดฟักออกปีละ 2 ครั้ง (Bivoltine) เพื่อใช้เป็นหนึ่งในลักษณะทางการเกษตรที่จะใช้เป็นข้อมูลประเมินคุณค่าของพันธุ์ไหม และการทดสอบแรงดึงเพื่อเก็บบันทึกเป็นข้อมูลลักษณะทางการเกษตรของไหมอนุรักษ์ อีกทั้งยังคงเน้นในเรื่องของการเลี้ยงบำรุงรักษาฟื้นฟูเชื้อพันธุกรรมไหมไม่ให้เสื่อมถอย การบันทึกข้อมูลพันธุ์ไหมให้เป็นมาตรฐานในแนวทางเดียวกัน การประเมินคุณค่าของพันธุ์ไหม และการจัดทำระบบฐานข้อมูลพันธุ์ไหมของกรมหม่อนไหมในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในงานโครงการธนาคารเชื้อพันธุกรรมไหม และเป็นประโยชน์ในงานด้านวิชาการสำหรับนำไปใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ไหม นอกจากนี้ยังศึกษาหาวิธีการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมไหมด้วยเทคโนโลยีทางชีวภาพ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานภายใต้โครงการธนาคารเชื้อพันธุกรรมไหม ทั้งในด้านการคัดเลือกเพื่อให้ได้ไหมสายพันธุ์แท้ และการเก็บรักษาดูแลพันธุ์ไหมอย่างดีเพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ยาวนานและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทันที เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายที่มีอยู่ในพันธุ์ไหมแต่ละชนิดให้ได้มากพอสำหรับการใช้ในอนาคตไม่สูญหาย ควบคู่ไปกับการศึกษาวิจัยและพัฒนาวิธีการเก็บรักษาและอนุรักษ์พันธุ์ไหมด้วยวิธีการอื่น ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพที่ทันสมัยเข้ามาเกี่ยวข้องในอนาคตด้วย

  พันจ่าเอกประเสริญ ยังได้กล่าวว่าจากภารกิจด้านการอนุรักษ์พันธุ์หม่อนและไหม กรมหม่อนไหมยังเร่งพัฒนาการผลิตพันธุ์หม่อน ไข่ไหมหม่อน และไข่ไหมอีรี่ที่มีลักษณะตรงตามพันธุ์ คุณภาพดี และปราศจากโรค ไว้บริการแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรม/โครงการ/งานต่าง ๆ ของกรมหม่อนไหม นอกจากพันธุ์หม่อนและไหมแล้ว กรมหม่อนไหมยังมีการผลิตและกระจายพันธุ์ไม้ย้อมสีให้เกษตรกรได้มีแหล่งวัตถุดิบในการใช้ย้อมสีธรรมชาติ อันจะก่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมในอีกทางหนึ่ง โดยในปีงบประมาณ 2567 กรมหม่อนไหมได้มีแผนดำเนินการผลิตพันธุ์หม่อนและไข่ไหมพันธุ์ดีตามความต้องการของเกษตรกร โดยมีเป้าหมายผลิตไข่ไหมพันธุ์ดี จำนวน 111,100 แผ่น เพื่อให้บริการแก่เกษตรกรหม่อนไหมทั่วประเทศ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน

ส่วนเรื่องของการทำตลาดจำหน่ายผลผลิต และสินค้าอื่นๆ ที่เป็นตรานกยูงพระราชทานของเกษตรกรหรือชุมชนทั่วประเทศไทย ผู้สนใจสามารถทำการซื้อสินค้าได้ที่ช่องทางใดบ้าง และในระดับต่างประเทศไปในทิศทางใดบ้าง ท่านอธิบดีกรมหม่อนไหมว่า สำหรับตรานกยูงพระราชทานที่กรมหม่อนไหมให้การรับรองแก่ผู้ผลิตผ้าไหมนั้น มีจุดเริ่มต้นจาก เมื่อปี 2545 มีผู้นำเข้าเส้นไหมและเส้นใยสังเคราะห์อื่นจากต่างประเทศ ทำให้ผ้าไหมไทยมีคุณภาพด้อยลง แต่ผู้ผลิตยังคงเรียกว่า “ผ้าไหมไทย” หรือ “Thai Silk” เพื่อการค้า ทำให้ผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศไม่มั่นใจในคุณภาพของผ้าไหมไทย สมเด็จพระพระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงทรงมีพระกระแสรับสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาสาเหตุและแนวทางแก้ไข เพื่อกำหนดทิศทางและวิธีการคุ้มครองผ้าไหมไทย และกำหนดเป็นข้อบังคับการใช้เครื่องหมายรับรองพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า โดยได้พระราชทานสัญลักษณ์นกยูงไทยให้เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย แบ่งออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่ นกยูงสีทอง (Royal Thai Silk) นกยูงสีเงิน (Classic Thai Silk) นกยูงสีน้ำเงิน (Thai Silk) และนกยูงสีเขียว (Thai Silk Blend) โดยปัจจุบัน ได้มีการจดทะเบียนตรานกยูงพระราชทานเป็นเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยในต่างประเทศไปแล้ว 35 ประเทศทั่วโลก เพื่อให้ผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐานของผ้าไหมไทย อีกทั้งยังส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมผ้าไหมไทยอีกทางหนึ่งด้วย

ในส่วนของช่องทางการตลาด กรมหม่อนไหม ได้สร้างหลากหลายช่องทางการตลาดสินค้าหม่อนไหม เพื่อเอื้ออำนวยให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงสินค้าหม่อนไหมได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งงานสำคัญที่กรมหม่อนได้จัดเป็นประจำทุกปี คือ งาน “ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนวนไหมไทย” เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงสืบสานและทรงให้ความสำคัญกับผ้าไหมไทย พร้อมผลักดันมาตรฐานไหมไทย มุ่งสร้างชื่อเสียง สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปี 2567 นี้ กรมหม่อนไหมได้มีการกำหนดการจัดงานตรานกยูงพระราชทานฯ ครั้งที่ 19 ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2567 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ฮอลล์ 6 – 7 ภายในประกอบไปด้วยจัดกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ การจัดแสดงเครื่องหมายตรานกยูงพระราชทาน การสร้างมูลค่าเพิ่มผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ชนิดต่างๆ ผลงานการประกวดเส้นไหม ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน และผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ประจำปี 2567 นิทรรศการหม่อนไหม รวมทั้งยังมีการออกร้านจำหน่ายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ไหมไทย และสินค้าหม่อนไหม มากกว่า 200 ร้านค้า ซึ่งถือเป็นหนึ่งในช่องทางการจำหน่ายสินค้าหม่อนไหมที่สำคัญในระดับประเทศ โดยในปี 2566 สามารถสร้างได้รายได้จากการจำหน่ายสินค้าภายในงานได้ถึง 34,326,544 บาท

ทั้งนี้ ยังมีการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการจำหน่ายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์หม่อนไหม โดยได้รวบรวมสินค้าผ้าไหมที่งดงามทรงคุณค่าและผลิตภัณฑ์หม่อนไหมคุณภาพสูงของเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร/ผู้ประกอบการจากทั่วประเทศ มาจัดจำหน่ายตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ภายใต้โครงการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการจำหน่ายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์หม่อนไหมสัญจร ซึ่งจะมีการดำเนินกิจกรรมในเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดขอนแก่น รวมทั้ง การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของหน่วยงานภายนอก เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการสินค้าหม่อนไหมได้มายิ่งขึ้น เช่น งานหม่อนไหมใต้ร่มพระบารมี เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรแม่นยำสู่เกษตรไทยมูลค่าสูง งานเกษตรอีสาน สร้างนวัตกรรม นำคุณค่าสู่สากล งาน Open House สินค้าเกษตรคุณภาพสูง (อ.ต.ก.) งานวันกาชาด เป็นต้น

นอกจากการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าในรูปแบบของการจัดงานแสดงสินค้าแล้ว กรมหม่อนไหมยังได้ส่งเสริมศักยภาพให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการสินค้าด้านหม่อนไหม โดยจัดอบรมหลักสูตรต่างๆ เพื่อเพิ่มความรู้และทักษะที่สำคัญในการผลิตสื่อและสร้างคอนเทนต์ในการทำการตลาดและส่งเสริมการขายทางสื่ออนไลน์ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน เช่น TIKTOK LAZADA SHOPEE Facebook และ Line Official

ส่วนในระดับต่างประเทศ ในปี 2566 พบว่ามีมูลค่าการส่งออกผ้าทอทำด้วยไหมของไทย จำนวน 65,494,217.00 บาท ทั้งนี้ ในส่วนของกรมหม่อนไหม ที่ผ่านมากรมหม่อนไหมได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานที่ปรึกษาเกษตรต่างประเทศ เข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศต่างๆ อาทิ งาน Silk Suzhou ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน งานเทศกาลไทย ณ กรุงมอสโก และงาน Floriade ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อเป็นการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์สินค้าผ้าไหมและผลิตภัณฑ์สู่ระดับนานาชาติ  และได้มีการประสานขอความร่วมมือจากสำนักการเกษตรต่างประเทศ ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ “เครื่องหมายตรานกยูงพระราชทาน” เพื่อสร้างความมั่นใจมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐานของผ้าไหมไทยให้แก่ตลาดต่างประเทศ รวมถึง การเข้าร่วมจัดงานนิทรรศการและส่งเสริมการจำหน่วยผ้าไหมและผลิตภัณฑ์หม่อนไหมคุณภาพสูง โดยเฉพาะในประเทศที่มียอดการนำเข้าผ้าทอทำด้วยไหม 10 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น บังกลาเทศ สิงคโปร์ ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

สุดท้ายท่านอธิบดี กรมหม่อนไหมยังได้ฝากอะไรถึงเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ในเรื่องของความยั่งยืน เพื่อให้มีรายได้ที่มั่นคงต่อไปในอนาคต  ว่า ในปัจจุบันกรมหม่อนไหมได้เร่งส่งเสริมเกษตรกรายใหม่และฟื้นฟูเกษตรกรรายเดิมให้กลับเข้าสู่อาชีพหม่อนไหม ขยายพื้นที่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้เพิ่มมากขึ้น โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในพื้นที่ สปก. และ คทช.

        รวมทั้งมีการสร้างทายาทหม่อนไหมในโรงเรียนและชุมชน ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการ ให้สามารถผลิตสินค้าหม่อนไหมทีมีคุณภาพมาตรฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและรองรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้ง สนับสนุนงานโครงการพระราชดำริ และอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาและทรัพยากรทางชีวภาพด้านหม่อนไหม

        ท้ายสุดนี้กรมหม่อนไหมขอให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทุกท่าน เชื่อมั่นในการทำงานของกรมหม่อนไหมและช่วยกันสะท้อนถึงความต้องการของท่าน ที่ต้องการให้กรมช่วยส่งเสริมท่านในเรื่องต่างๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาให้อาชีพหม่อนไหมยั่งยืนคงอยู่กับประเทศไทยต่อไป…

                                         ———————————–

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *