บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด หรือ ซีพีเอฟ สนับสนุนกรมประมงขจัดและควบคุมปลาหมอคางดำใน 12 จังหวัด รับซื้อทำปลาป่นแล้วกว่า 750,000 กิโลกรัม ยังเดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจจับปลาออกจากแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมลงพื้นที่รวมพลังกับจังหวัดสมุทรปราการ กรมประมง กองทัพบก กรมราชทัณฑ์ ปฏิบัติการจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำในพื้นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ กองทัพบกบางปู พร้อมมีอาสาสมัครกว่า 100 คนเดินทางมาจากจังหวัดร้อยเอ็ดร่วมทอดแหจับปลานำไปทำปลาร้า หนุนประชาชน “กิน” พิชิต “หมอคางดำ”
นายศุภมิตร ชิณศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานในกิจกรรม “ลงแขกลงคลองตัดวงจรการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำเพื่อรักษาสมดุลระบบนิเวศจังหวัดสมุทรปราการ ครั้งที่ 2” โดยมีนายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมประมง ร่วมกับอาสาสมัครจากจังหวัดร้อยเอ็ด และเรือนจำกลางสมุทรปราการ ลุยกำจัดปลาหมอคางดำบริเวณแหล่งน้ำพื้นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ กองทัพบกบางปู ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ สามารถจับปลาหมอคางดำขึ้นมาได้ถึง 1,101 กิโลกรัม อาสาสมัครจากร้อยเอ็ดจะนำปลากลับไปทำปลาร้าต่อไป นอกจากนี้ ปลาที่จับได้ยังถูกส่งต่อให้การยางแห่งประเทศไทยเพื่อผลิตน้ำหมักชีวภาพสำหรับเกษตรกรชาวสวนยาง ส่งโรงงานปลาป่น มอบให้เรือนจำกลางจังหวัดสมุทรปราการใช้ปรุงเป็นอาหารให้ผู้ต้องขัง และแจกจ่ายบริโภคในครัวเรือน
นายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ กระจายไปในพื้นที่ 19 จังหวัด กิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้มาตรการการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำของกรมประมง ตั้งเป้าจับให้ได้ไม่น้อยกว่า 5,000 ตัน ซึ่งที่ผ่านมาทุกภาคส่วนได้ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันหยุดวงจรการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำในหลากหลายวิธี สำหรับในเดือนสิงหาคมกรมประมงสามารถจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำได้แล้วกว่า 610,000 กิโลกรัมหรือมากกว่า 600 ตัน
นายสมพร เกื้อสกุล ประมงจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า สมุทรปราการเป็นเมืองแห่งผลผลิตด้านประมง มีกำลังการผลิตสัตว์น้ำประเภทกุ้งทะเล สูงถึง 1,400 ตันต่อปี สร้างมูลค่า 210 ล้านบาท การระบาดของปลาหมอคางดำส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมงและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ที่ผ่านมาจังหวัดสมุทรปราการ มีการจัดตั้งทีมเฉพาะกิจในการออกปฏิบัติการกำจัดปลาหมอคางดำ ส่งผลให้ในขณะนี้สถานการณ์การระบาดของปลาหมอคางดำลดจำนวนลงได้ และการจัดกิจกรรมลงแขกลงคลองอครั้งนี้ เป็นความพยายามในขจัดปลาหมอคางดำสิ้นซาก รักษาสมดุลระบบนิเวศ ได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากประชาชนในพื้นที่และอาสาสมัครจากร้อยเอ็ดมาช่วยกันลงแรงเพื่อจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ
ด้านนายอดิศร์ กฤษณวงศ์ ผู้บริหารสูงสุดสายงานรัฐกิจและเอกชนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทสนับสนุนกรมประมงจำกัดปลาหมอคางดำโดยเร็วที่สุด บูรณาการขับเคลื่อน 5 โครงการเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ทั้งการร่วมรับซื้อปลาหมอคางดำผลิตปลาป่น การมอบปลานักล่าเพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำกำจัดลูกปลาชนิดนี้ตามแนวทางกรมประมง รวมถึงร่วมกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” ในพื้นที่หลายจังหวัด นอกจากสมุทรปราการแล้ว ซีพีเอฟได้ร่วมสนับสนุนการจับปลาใน สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ระยอง เพชรบุรี นครปฐม ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช รวม 12 จังหวัด และพร้อมขยายความร่วมมือกับจังหวัดอื่นๆ ต่อเนื่อง สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ยังได้รับความร่วมมือจากพันธมิตร แม็คโครจิตอาสา สาขาแพรกษา นำขนมและน้ำดื่มมาแจกให้กับผู้ร่วมกิจกรรมอีกด้วย
ทั้งนี้ซีพีเอฟแสดงความมุ่งมั่นบูรณาการขับเคลื่อน 5 โครงการเชิงรุกเพื่อร่วมแก้ปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ ฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างจริงจัง ประกอบด้วย โครงการร่วมกับกรมประมงรับซื้อปลาเพื่อทำปลาป่น 2,000,000 กิโลกรัม ที่ปัจจุบันร่วมกับโรงงานปลาป่นในสมุทรสาครจัดซื้อปลาไปแล้วกว่า 750,000 กิโลกรัม โครงการปล่อยปลานักล่า 200,000 ตัว จนถึงวันนี้ปล่อยปลากะพงลงแหล่งน้ำแล้ว 64,000 ตัว รวมถึง โครงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำปลาไปใช้ประโยชน์ เช่น แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร และโครงการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญและมหาวิทยาลัยในการศึกษาวิจัยนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเพื่อตัดวงจรและควบคุมการแพร่พันธุ์ของปลาชนิดนี้ในระยะยาว โดยมีมหาวิทยาลัยแสดงเจตนารมณ์ร่วมโครงการวิจัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแม่โจ้
———————————————————————