กรมปศุสัตว์ ผลึกกำลัง บก.ปคบ. บุกทลายสถานที่ผลิตยาสัตว์เถื่อน และสารเร่งเนื้อแดงรายใหญ่ ได้ของกลาง มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท

กรมปศุสัตว์ ร่วมกับ บก.ปคบ. และ อย. แถลงผลการบุกจับสถานที่ผลิตยาสัตว์เถื่อน และสารเร่งเนื้อแดงรายใหญ่สามแห่ง ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม พร้อมตรวจยึดยาสัตว์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและอาหารสัตว์ต้องสงสัยว่ามีการผสมสารเร่งเนื้อแดงจำนวนมาก มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท

นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) พร้อมด้วย นายบุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ผู้แทนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปศุสัตว์เขต 7 ผู้อำนวยการกองสารวัตรและกักกัน ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวการบุกจับสถานที่ผลิตยาสัตว์เถื่อน และสารเร่งเนื้อแดงรายใหญ่สามแห่ง ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม พร้อมตรวจยึดยาสัตว์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและอาหารสัตว์ต้องสงสัยว่ามีการผสมสารเร่งเนื้อแดงจำนวนมาก มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท

นายบุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 กรมปศุสัตว์ ได้รับเรื่องร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์กรมปศุสัตว์ กรณีมีสถานที่ผลิตและจัดจำหน่ายยาสัตว์เถื่อน และสารเร่งเนื้อแดงรายใหญ่ภายในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งต้องสงสัยว่ามีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ประกอบด้วย ปศุสัตว์เขต 7 ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม เจ้าหน้าที่กองสารวัตรและกักกัน และเจ้าหน้าที่กองควบคุมอาหารและยาสัตว์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองกำกับการ 2 บก.ปคบ. ได้ร่วมกันวางแผนสืบสวนข้อมูลเบื้องต้นพบว่า สถานประกอบการทั้งสามแห่งดังกล่าว มีเหตุอันน่าเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดจริง จึงได้ขอหมายค้นจากศาลจังหวัดนครปฐม เพื่อเข้าค้น บริษัทปฐม อินเตอร์เทรด จำกัด ในพื้นที่อำเภอกำแพงแสน 2 แห่ง และอำเภอบางเลน 1 แห่ง

ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่า สถานประกอบการทั้งสามแห่ง มีเจ้าของคนเดียวกันทั้งหมด โดยมีลักษณะเป็นสถานที่ผลิตยาและอาหารสัตว์ ในรูปแบบโกดังขนาดใหญ่ ซึ่งภายในสถานที่ดังกล่าวพบผลิตภัณฑ์ยาสัตว์ไม่มีเลขทะเบียน อาหารสัตว์ผสมสารเร่งเนื้อแดง เครื่องมือเครื่องจักรสำหรับการผลิต และจากการตรวจสอบใบอนุญาตจำหน่ายอาหารสัตว์และยาสัตว์ พบว่าสถานประกอบการดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตจำหน่ายอาหารสัตว์และยาสัตว์ ซึ่งการกระทำดังกล่าว เข้าข่ายการกระทำความผิด ตาม พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 ใน 2 มาตราด้วยกันคือ1. มาตรา 15 ผู้ใดประสงค์จะผลิตเพื่อขาย หรือนำเข้าเพื่อขายอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ ตามมาตรา 6 (1) ให้ยื่นคำขออนุญาต และเมื่อผู้อนุญาตออกใบอนุญาตให้แล้ว จึงจะผลิตเพื่อขาย หรือนำเข้าเพื่อขายอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะนั้นได้ โทษตามมาตรา 74 จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ2. มาตรา 56 (4) ห้ามผู้ใดผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือขายอาหารสัตว์ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ โทษตาม มาตรา 86 วรรคแรก จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ใน2 มาตราคือ1. มาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาแผนปัจจุบัน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต โทษตาม มาตรา 101 จำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และ 2. มาตรา 72 (4) ห้ามมิให้ผู้ใด ผลิต ขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา โทษตาม มาตรา 122 จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  สำหรับการดำเนินการขณะนี้พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการยึดของกลางยาสัตว์และอาหารสัตว์ไม่มีทะเบียน รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำควประกอบด้วย1. ยาสัตว์ไม่มีทะเบียน จำนวน 224 รายการ ซึ่งเป็นยาที่ไม่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อาจไม่มีสารสำคัญ หรือปริมาณสารตามที่กำหนด ไม่มีประสิทธิภาพในการรักษา และอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง 2. อาหารสัตว์ผสมสารเร่งเนื้อแดง จำนวน 7 รายการ ซึ่งสารเร่งเนื้อแดงที่ผสมในอาหารสัตว์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการเจริญเติบโต ลดปริมาณไขมันในเนื้อสัตว์ ตลอดจนเพิ่มปริมาณกล้ามเนื้อ และทำให้เนื้อสัตว์สีแดงน่าบริโภค ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น กระตุ้นการเต้นกล้ามเนื้อหัวใจ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ โรคลมชัก โรคความดันโลหิตสูง ตลอดจนหญิงมีครรภ์ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีคสามเสี่ยงสูงที่จะได้รับอันตรายจากสารเร่งเนื้อแดงที่ตกค้างในเนื้อสัตว์

นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการผลิต จำนวน 9 รายการ ซึ่งเป็นเครื่องมือผลิตยาที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมของกลาง จำนวน 240 รายการ มูลค่าของกลางประมาณ 100,434,840 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการตรวจยึดของกลางทั้งหมด และจับกุมผู้ต้องหา นำส่งพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 2 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป

อย่างรก็ตาม กรมปศุสัตว์ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินนโยบายทำสงครามปราบปรามสารเร่งเนื้อแดง และยาสัตว์เถื่อนอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้กินดีอยู่ดี มีการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัย ปราศจากสารเร่งเนื้อแดง และยาอันตรายต่างๆ และเป็นการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูงเพื่อแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน ตามนโยบายรัฐบาล “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”

สุดท้ายนี้ จึงขอฝากเตือนภัยผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ยาสัตว์และอาหารสัตว์ ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ เพื่อความปลอดภัย โดยหากเป็นยาหรืออาหารสัตว์ สินค้าดังกล่าวต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมปศุสัตว์ และหากสถานพยาบาลสัตว์หรือสถานประกอบการใด นำยาสัตว์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเหล่านี้ไปจำหน่ายและใช้ในสถานพยาบาลของตนจะมีความผิดตาม พ.ร.บ ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 72 (4) ผลิต ขาย หรือนำ หรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา โทษตาม มาตรา 122 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ หากพบการกระทำลักษณะข้างต้น หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225-6888 หรือแจ้งข้อมูลผ่าน Application : DLD 4.0 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

                                                      ————————————————–

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *