ธนาคารกรุงเทพ น้อมถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2567 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 58 เพื่อร่วมสืบสานพระพุทธศาสนา ณ วัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร กรุงเทพฯ

ธนาคารกรุงเทพ น้อมถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2567 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 58 ณ วัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร กรุงเทพมหานคร ในวาระครบรอบ 80 ปี ของการก่อตั้งธนาคาร โดยจัดขบวนอัญเชิญอย่างยิ่งใหญ่ ภายใต้แนวคิดวัฒนธรรมไทย-จีนร่วมสมัย ใจกลางถนนเยาวราช รวมพลังศรัทธาจากลูกค้า พนักงาน และประชาชนทั่วไป ร่วมสืบสานพุทธศาสนา และร่วมทำบุญเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 22,564,929.01 บาท

            ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นำโดย นายสิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ รองประธานกรรมการบริหาร ประธานฝ่ายฆราวาส นายอมร จันทรสมบูรณ์ นายโชคชัย นิลเจียรสกุล นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ นายปรีดี ดาวฉาย นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการธนาคาร นายสุวรรณ แทนสถิตย์ นางสาวนิรมาณ ไหลสาธิต กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท  นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน นายไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่ นายกึกก้อง รักเผ่าพันธุ์ รองผู้จัดการใหญ่ พร้อมคณะผู้บริหารและพนักงาน น้อมถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2567 แด่พระสงฆ์จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ต่อเนื่องเป็นปีที่ 58

โดยได้รับความเมตตาจากเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร เป็นองค์ครองผ้าพระกฐินพระราชทาน และ เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร ร่วมในพิธี โดยโอกาสนี้ หน่วยงานภาครัฐ นำโดย นายชัยวัฒน์ รังษีภโนดร ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ ผู้ประกอบการภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่ให้เกียรติร่วมในพิธีที่วัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร

            ทั้งนี้ ด้วยพลังศรัทธาของธนาคารกรุงเทพ คณะกรรมการ คณะผู้บริหาร พนักงานธนาคาร ลูกค้า ประชาชนและผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศได้ร่วมทำบุญกฐินพระราชทาน ประจำปี 2567 รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 22,564,929.01 บาท ธนาคารกรุงเทพ น้อมถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2567 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 58 ณ วัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพระอารามเก่าแก่สำคัญของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนในเขต สัมพันธวงศ์ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 80 ปี ของธนาคาร ในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 นี้ โดยธนาคารกรุงเทพ ได้ก่อตั้งสำนักงานแห่งแรกบนถนนราชวงศ์ มุมถนนทรงวาด โดยมีนายชิน โสภณพนิช เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งธนาคาร และบริหารงานต่อเนื่องมาจนถึงนายชาตรี โสภณพนิช และนายชาติศิริ โสภณพนิช ในปัจจุบัน ภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะเป็น “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ให้กับลูกค้าจวบจนปัจจุบัน

            ธนาคารกรุงเทพ  “ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค” นับเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่ได้รับสนองพระมหากรุณาธิคุณน้อมนำผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวายยังพระอารามหลวง หมุนเวียนเปลี่ยนไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย รวมถึงในต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2510 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เป็นเวลายาวนานต่อเนื่องเป็นปีที่ 58 เพื่อร่วมธำรงไว้ซึ่งความสถาพรแห่งพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ด้วยหวังแบ่งเบาพระราชภาระและถือเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ให้เป็นประโยชน์ต่อพระภิกษุสามเณรที่มีศรัทธา เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป

            สำหรับ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร หรือชื่อเดิม วัดสามจีน ก่อตั้งโดยราษฎร ทำให้พระอารามแห่งนี้มีฐานะเป็นวัดราษฎร์ ต่อมาได้มีการปรับปรุงพระอารามครั้งใหญ่ และยังเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ ได้แก่ ‘พระพุทธทศพลญาณ’ พระประธานในพระอุโบสถ และ‘พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร’ หรือ ‘หลวง พ่อทองคำ’ ปูชนียวัตถุสำคัญของชาติและเป็นที่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่เดินทางมาสักการะบูชาจากทั่วทุกสารทิศ ปัจจุบันประดิษฐานในพระมหามณฑป เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ซึ่งจัดสร้างในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา  โดยองค์พระทั้งองค์เป็นทองคำเนื้อเจ็ดที่มีความบริสุทธิ์สูง น้ำหนักถึง 5,500 กิโลกรัม ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 3.10 เมตร สูงจากฐานถึงยอด 3.94 เมตร จึงทำให้ ‘หลวงพ่อทองคำ’ เป็นองค์พระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดังมีการบันทึกไว้ในหนังสือกินเนสบุ๊ก (Guinness Book of World Records) ฉบับปี 2535 ต่อมากรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียน‘พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร’  เป็นโบราณวัตถุ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2499 แ ละประกาศขึ้นทะเบียน ‘วัดไตรมิตรวิทยาราม’ เป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2499 อีกทั้งได้รับพระบรมราชานุญาตให้ยกฐานะพระอารามขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2499                            

                                                       —————————————-                            

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *