มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ผนึกกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 16 ภายใต้แนวคิด “เกษตรพื้นถิ่นสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเกษตรไทย” พร้อมประกาศผลรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดดีเด่น ตามเป้าหมายอุดมการณ์สำนึกรักบ้านเกิด มุ่งมั่นตอบแทนคุณแผ่นดิน เป็นต้นแบบของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน ภายในงานยังได้รับเกียรติจากคุณซิกเว่ เบรคเก้ อดีต President and Chief Executive Officer เทเลนอร์ กรุ๊ป มาร่วมแสดงความยินดีกับเกษตรกรที่ได้รับรางวัล ตอกย้ำความสำคัญของการสนับสนุนเกษตรกรไทยในเวทีระดับชาติ
คุณบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กล่าวในฐานะผู้ริเริ่มโครงการว่า โครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด นับเป็นเวทีสำคัญที่ช่วยเชิดชูเกษตรกรไทยผู้มีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมให้ก้าวหน้าและยั่งยืน ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 ถือเป็นการตอกย้ำถึงความสำเร็จในการส่งเสริมเกษตรกรไทยที่มีศักยภาพสูง
“ปีนี้เราใช้แนวคิด ‘เกษตรพื้นถิ่นสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเกษตรไทย’ ที่เน้นการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่เพียงเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร แต่ยังช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับเกษตรกร พร้อมทั้งช่วยให้สินค้าเกษตรไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน”
โดยความสำเร็จครั้งนี้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของเกษตรกร ภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ที่มุ่งมั่นในการผลักดันเกษตรไทยสู่ความมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต
ดร.ธนสาร ธรรมสอน ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภาคเกษตรกรรมเป็นรากฐานสำคัญของประเทศไทย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและวัฒนธรรม เกษตรกรไทยไม่ได้เป็นเพียงผู้ผลิตอาหารให้กับคนในประเทศ แต่ยังเป็นผู้รักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีคุณค่า อย่างไรก็ตาม ภาคเกษตรกรรมต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิอากาศ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ และความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค
ทั้งนี้โครงการฯ ดังกล่าว เป็นตัวอย่างที่ดีของการสนับสนุนเกษตรกรไทย โดยมุ่งเน้นการผสมผสานความรู้แบบดั้งเดิมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อยกระดับการผลิต เพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร และยังช่วยเสริมความยั่งยืนทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
“ดิฉันหวังว่า โครงการนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรทั่วประเทศและสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรไทยสามารถก้าวสู่อนาคตที่สดใส พร้อมเป็นต้นแบบที่ดีในการพัฒนาเกษตรกรรมให้กับประเทศอื่น ๆ”
คุณประเทศ ตันกุรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ร่วมกับมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด และกรมส่งเสริมการเกษตร สนับสนุนโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2567 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 สะท้อนความตั้งใจของทรู ที่ตระหนักถึงความสำคัญของภาคเกษตรกรรม ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ เป็นแหล่งผลิตสร้างความมั่นคงทางอาหาร ขับเคลื่อนชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของชาติ ซึ่งในฐานะเทคคอมปานีไทย ทรู พร้อมนำศักยภาพเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจร มาสนับสนุนการเกษตรและเกษตรกรไทย ทั้งในส่วนของ โครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายที่เร่งยกระดับให้ทันสมัยต่อเนื่อง
ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการเชื่อมต่ออย่างครอบคลุม รวดเร็ว การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI และ Machine Learning มาพัฒนาเครือข่ายอัจฉริยะ ตอบโจทย์ทุกชีวิต และสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะ “True Farm” ที่มีนวัตกรรมโซลูชัน IoT พร้อมตอบโจทย์การเกษตรยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็น True Farm Cow: ระบบติดตามพฤติกรรมและสุขภาพโค True Farm Grow: วัดคุณภาพดินและน้ำเพื่อสั่งการการให้น้ำและปุ๋ยอย่างแม่นยำ ทั่วถึง หรือ True Farm Drone: บริการโดรนพ่นสารละลายป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ทั้งนี้ ทรู คอร์ปอรชั่น พร้อมที่จะนำศักยภาพเทคโนโลยีดิจิทัล และเดินหน้าพัฒนาเครือข่ายอัจฉริยะและนวัตกรรมโซลูชัน เพื่อเสริมแกร่งภาคเกษตรกรรม รวมถึงพี่น้องชาวเกษตรกรไทยให้ก้าวทันการเกษตรยุคดิจิทัล สร้างความยั่งยืนไปด้วยกัน”
คุณสุริยะ คำปวง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงเป้าหมายของกรมในการสนับสนุนเกษตรกรว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและสนับสนุนเกษตรกรไทยให้มีศักยภาพในการปรับตัวและเติบโตในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566–2570) ของกรมนั้น มุ่งเน้นให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ทรู คอร์ปอเรชั่น และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในโครงการนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีของการบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนเกษตรกรให้เข้าถึงเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และยกระดับสินค้าเกษตรไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล”
ทั้งนี้ เกษตรกรที่ได้รับรางวัลในปี 2567 ได้แก่
รางวัลชนะเลิศ คุณฉัตรชัย ดีสวัสดิ์ เกษตรกรจาก เลมอน มี ฟาร์ม จังหวัดนครปฐม จากวิศวกรสู่เกษตรกรรุ่นใหม่ พลิกฟื้นสวนมะนาวของครอบครัวให้กลายเป็น “เลมอน มี ฟาร์ม” อาณาจักรมะนาวครบวงจร มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้งน้ำผลไม้และผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ล้วนเกิดจากความรู้ด้านวิศวกรรมผสานความมุ่งมั่นในการสร้างเกษตรกรรมที่ยั่งยืน พร้อมผลักดันมะนาวไทยให้ก้าวไกลสู่ตลาดโลก
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คุณปนิดา มูลนานัด เกษตรกรจากวิสาหกิจชุมชนวัยหวาน จังหวัดเพชรบุรี เปลี่ยนกล้วยหอมทองธรรมดาให้กลายเป็นสินค้ามูลค่าสูง ผ่านนวัตกรรมการแปรรูป เช่น เสื้อผ้าเยื่อกล้วย วาฟเฟิลกรอบ และเครื่องสำอางจากธรรมชาติ ทุกผลิตภัณฑ์สะท้อนถึงความใส่ใจในคุณภาพและการดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกร และส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชน
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คุณณฐกร เอกสมัย จากบ้านสวนเอกสมัย จังหวัดนครราชสีมา เปลี่ยนความล้มเหลวจากการปลูกน้อยหน่าเป็นโอกาส เริ่มต้นศึกษาและปลูกอะโวคาโดจนเชี่ยวชาญ ก่อตั้ง “แกรนเดฟาร์ม” เพื่อส่งต่อความอร่อยและคุณค่าของอะโวคาโดจากปากช่องสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศ และผลักดันให้เกษตรกรในชุมชนมีรายได้มั่นคง พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตและชื่อเสียงของอะโวคาโดไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
โดยมีเกษตรกรดีเด่น อีก 6 ท่านดังนี้
1. คุณศุภเศรษฐ์ กิตติพล (มีสุข) จังหวัดระยอง
2. คุณชนัญญา เชวงโชติ (สวนลุงชะเอม) จังหวัดราชบุรี
3. คุณจิรกร จิวเจริญกาล (โชคจิระเกษตร) จังหวัดนครปฐม
4. คุณวิชัย ดำเรือง (สวนสะละลุงถัน) จังหวัดพัทลุง
5. คุณอภิรติ กุนอก (ธนาบ้านสวน) จังหวัดนครราชสีมา
6. คุณมนตรี ชูกำลัง (วิสาหกิจชุมชนหนูพุกใหญ่พรหมพิราม) จังหวัดพิษณุโลก
เกณฑ์การคัดเลือกเกษตรกรดีเด่น โครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2567
คณะกรรมการฯ จะพิจารณาจากองค์ประกอบ 4 มิติ ได้แก่
1. คุณสมบัติความเป็นเกษตรกร มีรูปแบบการทำเกษตรอินทรีย์ หรือวิถีอินทรีย์ รวมทั้งสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ และทักษะด้านการสื่อสาร
2. คุณสมบัติด้านความเป็นเกษตรอินทรีย์ ทำเกษตรอินทรีย์ ที่ส่งเสริมและสร้างความยั่งยืนด้านสุขภาพให้แก่ผู้ผลิตและผู้บริโภค สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ เกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อม แบ่งปันทรัพยากรในชุมชน รวมทั้ง ปกป้องสุขภาพ และความเป็นอยู่ของคน
3. คุณสมบัติด้านเกษตรพื้นถิ่นสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเกษตรไทย ควรมีคุณสมบัติด้านการทำเกษตรสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ มุ่งเน้นการผลิตที่ยั่งยืน ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรไทยเพื่อความยั่งยืนทางการเกษตร
4. คุณสมบัติด้านความยั่งยืน ครอบคลุมด้านสังคม มีการรวมกลุ่มและการพัฒนาศักยภาพของชุมชน, การสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้ชุมชน ด้านเศรษฐกิจสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับตนเองและคนในชุมชน ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการปล่อยของเสียสู่ธรรมชาติ จัดการของเสียและวัสดุเหลือทิ้งอย่างมีประสิทธิภาพบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
—————————————————