บ้านปู เสนอผลการดำเนินงานครึ่งแรกปี 64 กำไร 93 ล้านเหรียญสหรัฐรุกขยายการลงทุน เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ประกาศผลดำเนินธุรกิจครึ่งแรกของปี 2564 สามารถรักษากระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง โดยมีรายได้จากการขายในครึ่งแรกของปี 2564 รวม 1,535 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 47,325 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 582 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 17,948 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 147 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 93 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,861 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 488 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยสำคัญเกิดจากการปรับตัวที่สูงขึ้นของราคาถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ บริษัทฯ ยังคงมุ่งลงทุนในธุรกิจพลังงานที่สร้างความเติบโตอย่างต่อเนื่องตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต  การดำเนินงานที่คล่องตัว ยืดหยุ่น พร้อมปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง และรับมือกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก  

          นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา บ้านปูยังคงเร่งสร้างการเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจ (Banpu Transformation) อย่างต่อเนื่องภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter โดยประสบความสำเร็จในการลงทุนเพื่อขยายพอร์ตธุรกิจพลังงานที่สะอาดมากขึ้น รวมทั้งยังสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันที ขณะเดียวกันยังศึกษาความเป็นไปได้ในธุรกิจเหมือง Green Tech Minerals ทั้งในออสเตรเลียและอินโดนีเซีย เพื่อส่งเสริมและต่อยอดของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน รวมทั้งยังศึกษาการลงทุนในโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) และ Data Center ซึ่งมีศักยภาพการเติบโตสูงและสามารถเสริมระบบนิเวศทางธุรกิจของกลุ่มบ้านปู หรือ Banpu Ecosystem ให้ครบวงจรยิ่งขึ้น”

          ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ทั้ง 3 ธุรกิจหลักของบริษัทฯ มีผลประกอบการที่ดี สร้างกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่อง โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) รวม 582 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 17,948 ล้านบาท)

          ด้านกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน (Energy Resources) ธุรกิจเหมือง มีผลประกอบการที่ดีจากราคาขายเฉลี่ยที่ปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับแนวโน้มราคาถ่านหินในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการใช้พลังงานจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศ ในขณะที่ผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่หลายรายเผชิญความท้าทายในการผลิตถ่านหินออกสู่ตลาด โดยธุรกิจเหมืองมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ในครึ่งปีแรก 331 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 10,228 ล้านบาท)  ด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ มีราคาขายเฉลี่ยสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลจากความต้องการที่สูงขึ้นจากภูมิอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ประกอบกับการเริ่มฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมจากช่วงปีที่ผ่านมา โดยธุรกิจก๊าซธรรมชาติมี EBITDA ครึ่งปีแรก 178 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5,463 ล้านบาท)

          ในส่วนของกลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน (Energy Generation) ยังคงสามารถสร้างรายได้ที่ดีสม่ำเสมอ โดยเฉพาะจากโรงไฟฟ้าเอชพีซีใน สปป.ลาว ที่สามารถผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าด้วยค่าความพร้อมจ่าย หรือ EAF ที่สูงขึ้น  ด้านโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี จังหวัดระยอง มีการปิดซ่อมบำรุงเพื่อซ่อมแซมเหตุท่อรั่ว (tube leak) อย่างไรก็ตาม ยังสามารถรักษาระดับ EAF ได้สูง  ส่วนโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Combined Heat and Power: CHP) ในจีนมีผลกำไรลดลงจากความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำที่ชะลอตัวลงจากลูกค้าบางกลุ่ม และผลกระทบจากต้นทุนถ่านหินในประเทศที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (Shanxi Lu Guang: SLG) ในจีนกำลังเตรียมความพร้อมในการเปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 3

          ด้านธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจีน มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยทำให้มีความเข้มของแสงที่สูงขึ้น และมีอัตราความสามารถในการผลิตไฟฟ้า (Capacity Factor) สูงขึ้นเช่นเดียวกัน  ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น มีปริมาณการผลิตไฟฟ้าและ Capacity Factor เพิ่มขึ้นเช่นกัน  ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม Vinh Chau ระยะที่ 1 ในเวียดนาม มีรายงานความคืบหน้าในการก่อสร้างที่ร้อยละ 68 และคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 4 ของปีนี้  ทั้งนี้ ในครึ่งปีแรกบริษัทฯ มี EBITDA 77 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,370 ล้านบาท)

          ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการต่อยอดกลยุทธ์ Greener & Smarter จากการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าใหม่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โรงไฟฟ้า Nakoso IGCC ในญี่ปุ่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Beryl และ Manildra ในออสเตรเลีย และล่าสุดได้เข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ CCGT “Temple I” ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ถือเป็นการก้าวสู่ตลาดซื้อขายไฟฟ้าที่เปิดเสรีและมีความก้าวหน้าอย่างมาก

          กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology) ยังคงเร่งเดินหน้าสร้างความเติบโต โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณท์และบริการเพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจของกลุ่มบ้านปู (Banpu Ecosystem) ให้แข็งแกร่ง โครงการที่สำคัญ ได้แก่ การก่อสร้างโครงการโซลาร์ลอยน้ำขนาด 16 เมกะวัตต์ ที่นิคมหลักชัยเมืองยาง คืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 60 ในขณะที่ธุรกิจติดตั้งโซลาร์บนหลังคา ขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มธุรกิจขนาดกลางมากขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าในญี่ปุ่นทำสัญญาระยะเวลา 1 ปี เพิ่มเติมกว่า 10 ฉบับ จากลูกค้ารายใหม่จำนวน 6 ราย ประกอบด้วย โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย และสถาบันแห่งชาติต่าง ๆ คิดเป็นปริมาณผลิตไฟฟ้า 111 กิกะวัตต์ชั่วโมง

          ล่าสุดจากการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทฯ จำนวน 5,074,581,513 บาท จากเดิม 5,074,581,515 บาท เป็นจำนวน 10,149,163,028 บาท ในมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยวัตถุประสงค์ในครั้งนี้เพื่อสร้างความเติบโตและความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มธุรกิจและระบบนิเวศทางธุรกิจของกลุ่มบ้านปู โดยเฉพาะการลงทุนในพลังงานสะอาดมากขึ้น พร้อมส่งมอบอนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน (Smarter Energy for Sustainability)

          “บ้านปูยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลัก ESG (Environmental, Social and Governance) โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี มาตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ทศวรรษ โดยยึดหลักความรับผิดชอบต่อคู่ค้า การสร้างผลตอบแทนที่ดีสม่ำเสมอในระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน รวมถึงการสร้างผลประโยชน์อย่างยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มใน 10 ประเทศที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจ โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บ้านปูได้รับรางวัล Asia’s Best SDG Reporting ระดับ Silver จาก Asia Sustainability Reporting Awards 2020 และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ยังได้รับการจัดอันดับจาก V.E ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้ Moody’s ESG Solutions ให้เป็นหนึ่งใน 100 บริษัทในประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่มีการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ ESG ได้อย่างโดดเด่น สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของบ้านปูในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ทำให้นักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียสามารถไว้วางใจได้ว่า บ้านปูมีความสามารถในการสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเป้าหมายการมี EBITDA จากธุรกิจพลังงานที่สะอาดขึ้นและเทคโนโลยีพลังงานในสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2568” นางสมฤดี กล่าวปิดท้าย

                   —————————————————————–

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *