สรพ.ถอดบทเรียน 2P Safety4 เซฟค่ารักษากว่า 42% เดินหน้าสู่การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในรพ.

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี ผอ.สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมออนไลน์ เนื่องในวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก The 3th World Patient safety Day safe maternal and newborn care เรื่อง “Patient and Personnel Safety ในสถานการณ์โควิด-19” ว่า สรพ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการขับเคลื่อนโครงการ 2P Safety มาตลอดระยะเวลา 4-5 ปี เพื่อส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมมความปลอดภัยต่อผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งในอนาคตจาก 2P ก็กำลังจะขยายเป็น 3P Safety นั้น ส่วนตัวมองว่าน่าจะเป็นประโยชน์ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการการระบาดของโรคโควิด -19 ซึ่งปี 2563 ถือว่าประเทศไทยทำได้ค่อนข้างดี บุคลากรสาธารณสุขติดเชื้อน้อยมาก และถึงแม้ปี 2564 จะเจอกับสายพันธุ์เดลต้า ที่แพร่กระจายง่ายทำให้บุคลากรติดเชื้อมากพอสมควร แต่ยังต่ำกว่าอีกหลายๆ ประเทศ ตนเชื่อโดยลึกๆ ว่าเกิดจากการผสมผสานระหว่างนโยบายปกติ รวมกับ 2P Safety ซึ่งถูกปูพื้นมาพอสมควรในเรื่องการควบคุมป้องกันโรค การลดความเสี่ยงต่างๆ ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

“ด้วย 2P Safety ช่วยให้เราเตรียมความพร้อมของประเทศ เรียนรู้ และพัฒนาเพื่อรองรับสายพันธุ์อื่นๆ อนาคตก็ต่อยอดเป็น 3P Safety อย่างการระบาดโควิด หากไม่มีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ภาคประชาสังคม คงบริหารจัดการได้ยาก ดังนั้นสิ่งที่เราทำคือการสร้างเครือข่าย เพราะฉะนั้น 2P Safety ทิศทางจะถูกผนวกรวมกับระบบการประเมินรับรอง การจัดระบบการรายงาน และอนาคตจะพูดถึงภาพรวมกับเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพ และความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น” ผอ.สรพ. กล่าว

ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ประเทศไทยเราทำเรื่องความปลอดภัยในสถานพยาบาลคู่ขนานกับองค์การอนามัยโลก และยังดำเนินการมาตลอด ที่ศิริราชมองว่าบทบาทรพ.นอกจาก 2P Safety  แล้วยังมีแนวคิดสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนที่มาติดต่องานอื่นๆ  ที่รพ.ด้วย เพราะแต่ละวันมีประชาชนมากว่า 4 หมื่นคนทั้งคนไข้นอก ญาติ และบุคลากร นอกจากนี้ยังคิดถึงชุมชนสภาพแวดล้อมห่างไกลศิริราชด้วย เพราะถ้าคนที่มาศิริราชแล้วรับอะไรบางอย่างจากที่นี่ อาทิ สารเคมี สารกัมมันตภาพรังสี ขยะติดเชื้อ เชื้อโรค เป็นต้น แล้วอาจจะนำกลับไปสู่ชุมชนเขาได้ ดังนั้นจึงครอบคลุม 4P Safety คือ patient , personnel, People และ Public

ทั้งนี้ บทเรียนโควิด -19 เป็นตัวอย่างที่ดีให้เห็นว่า 4P มีความสัมพันธ์กัน ที่ผ่านมามีคนไข้โควิดมานอนรพ.ศิริราช ทางรพ.ก็ต้องมีมาตรการป้องกันการติดเชื้อในบุคลากร และประชาชนที่มารพ.ด้วย ดังนั้นที่ผ่านมามีคนติดเชื้อจากผู้ป่วยน้อยมาก เพราะมีหน่วยงานที่เข้มแข็ง และมาตรการป้องกันตัวถือเป็นมาตรฐานที่ต้องทำ แต่บ่อยครั้งที่คนศิริราชติดเชื้อ ส่วนใหญ่ติดมาจากภายนอก แล้วค่อยแพร่สู่ผู้อื่น ดังนั้นจะเห็นว่าเชื้อจุลชีพต้องป้องกันรอบด้าน ป้องกันเราไม่ให้ติดเชื้อจากคนไข้ และป้องกันคนไข้ไม่ให้ติดเชื้อจากเรา เพราะฉะนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายก็ต้องป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนอื่นๆ ที่เดินเข้ามาในรพ.ศิริราชด้วย อย่างไรก็ตาม โควิด -19 บอกได้ชัดว่าต่อให้คนไข้ บุคลากรในรพ.ปลอดภัย แต่หากสังคมภายนอกยังมีการระบาดมาก โอกาสที่เชื้อจะหลุดเข้ามาก็ยังมีอยู่จึงต้องทำให้ครอบคลุมถึง 4P Safety  

“โดยสรุป ความหมาย 4P Safety ในความเห็นของผม และที่เราเริ่มคุยกันอยู่ Pตัวที่ 3 ควรครอบคลุม 2 กลุ่ม People และ Public ซึ่ง อาจจะมีการปฏิบัติแตกต่างกัน แต่หากดูเกณฑ์ที่ทำให้เกิดความปลอดภัย จะอยู่ใน ประเด็นการรับรองคุณภาพสถานพยาบาลเหมือนกัน หากหยิบออกมาไฮไลท์ให้ชัดเจน แล้วกำหนดเกณฑ์ติดตาม เกณฑ์ชี้วัด คิดว่าประเทศไทยกำลังจะสร้างอะไรบางอย่างให้กับโลกใบนี้” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ขณะที่ พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ รองผอ.สรพ. กล่าวว่า ในระบบบริการเกิดอันตรายขึ้นได้มากมาย เช่น มีรายงานที่สหรัฐในอเมริกาเกิดการเสียชีวิตปีละเกือบ 1 แสนราย มากกว่าอุบัติเหตุ และมะเร็งเต้านม ดังนั้นเรื่อง Patient Safety จึงสำคัญคือการทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อคนไข้ หรือลดอันตรายต่อคนไข้ เริ่มตั้งแต่กระบวนการคัดกรอง รักษา และติดตาม ให้ความรู้ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละกระบวนการมีโอกาสเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ตรงไหน ก็ต้องอาศัยต่อมเอ๊ะ หรือการช่างสังเกต ค้นหา เพื่อวางระบบป้องกันแก้ไข ซึ่งทั่วโลกได้ให้ความสำคัญมาก โดยองค์การอนามัยโลก มีการประชุมนานาชาติ ครั้งที่ 55 ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ต้องมีการปรับคุณภาพการให้บริการให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ป่วย เพื่อให้ประเทศทั่วโลกดำเนินการร่วมกัน ค้นหาช่องโหว่ในรพ. แล้วปิดจุดนั้นเพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย

“จากการประชุมครั้งนั้นเราพบว่าสถิติมีการรายงานการเปลี่ยนแปลงมากมาย พบอุบัติเหตุ หรือความเสียหายใจรับบริการในรพ. ติด 10 อันดับแรกของการเสียชีวิต ดังนั้นการที่ผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างการรักษา เกิดขึ้นในมือของเราจริงหรือ ดังนั้นจึงเป็นบทบาทหน้าที่ของเราด้วย บทบาทหน้าที่ จริยธรรมจะฟ้องกันในเรื่องนี้ได้อย่างไร เพราะจากจข้อมูล 83% ป้องกันได้ และปีนี้เนื่องในวัน Patient Safety Day 17 ก.ย.นี้ ให้ความสำคัญกับแม่และเด็ก เพราะพบสถิติทุกวันมีมารดา 830 คนเสียชีวิตจากการตั้งครรภ์ หรือกระบวนการคลอด ซึ่งส่งผลกระทบกับทารกด้วย” พญ.ปิยวรรณ กล่าว

รองผอ.สรพ. กล่าวต่ออีกว่า สำหรับประเทศไทยมีการประกาศนโยบายเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2559 ในขณะนั้นเพื่อขับเคลื่อนแผนสร้างความปลอดภัยในรพ. 4 ปี ตั้งแต่ 2560-2564 พบว่าในปีแรกอาจจะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะเรื่องอัตรากำลังของบุคลากร แต่เห็นแนวโน้มดีขึ้นในบางพื้นที่ บางรพ. อย่างไรก็ตามแนวโน้มก็ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยจากข้อมูลพบว่า อุบัติการณ์ อุบัติเหตุในสถานพยาบาล 1,708,670 ครั้ง แก้ไขได้ 42% เพิ่มขึ้นจากปีแรก 20%, 25% และ 27% ตามลำดับ ส่วนก้าวต่อไปในปี 2565 เรายังต้องร่วมมือกันสร้างความปลอดภัยในรพ. มากขึ้นเรื่อยๆ โดยจะมีการรับสมัครรพ. เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมตั้งแต่วันที่17 ก.ย.-18 ต.ค. 2564 ขอย้ำว่าการจะสร้างความปลอดภัยได้ บุคลากรต้องกล้าส่งเสียงความผิดปกติเหล่านี้ออกมาเพื่อให้เกิดการนำไปสู่การแก้ไขปัญหา

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *