19 ต.ค.64 : SDC ฉายความคืบหน้าธุรกิจธุรกิจ สะท้อนการฟื้นตัวอย่างชัดเจน หลังปรับองค์กรครั้งใหญ่ล่าสุด อัปเดตโครงการ DTRS ไปได้สวย 2 หน่วยงานภาครัฐ สนใจใช้บริการ พร้อมประกาศเปิดตัวบริการแอปใหม่ช่วงปลายปี พร้อมต่อยอดสู่การให้บริการ Digital Services เต็มรูปแบบในปี 2022
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สามารถดิจิตอล เปิดเผยว่า ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา บมจ. สามารถดิจิตอล หรือ SDC ได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล พร้อมๆ ไปกับการปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความกระชับและคล่องตัวในการบริหารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินธุรกิจ โดยขอบข่ายธุรกิจที่มุ่งเน้น คือ Digital Network & Digital Services โดยในส่วนของ Digital Network นั้น บริษัทเป็นพันธมิตรกับ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ในการให้บริการระบบสื่อสาร Digital Trunked Radio System หรือ DTRS ซึ่งปัจจุบันได้มีการติดตั้งโครงข่ายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศแล้ว ล่าสุด องค์กรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ได้ให้ความไว้วางใจในการใช้บริการ
ทั้งนี้ ประกอบด้วย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ได้เซ็นสัญญาเช่าใช้บริการ DTRS กับ NT ครอบคลุมพื้นที่ 9 เขตในภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคใต้ รวมระยะเวลา 4 ปี เริ่มตั้งแต่ เดือนสิงหาคม 2564 ถึง สิงหาคม 2568 โดยจะมีผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้นประมาณ 9,000 ราย และล่าสุด NT ยังได้เซ็นสัญญากับกระทรวงมหาดไทยในการเช่าใช้บริการระบบ DTRS เพื่อสนับสนุนการสื่อสารในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมระยะเวลา 38 เดือน เริ่มให้บริการเดือนเมษายน 2565 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการจำนวนถึง 77,000 ราย
อย่างไรก็ตาม บริษัท SDC ในฐานะพันธมิตรในการให้บริการระบบสื่อสารดังกล่าวกับ NT จะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากค่าบริการเป็นรายเดือนตลอดอายุสัญญา ซึ่งถือเป็นรายได้ประจำในระยะยาว และSDC ยังมีโอกาสรับรู้รายได้เพิ่มจากการจำหน่ายและ/หรือการให้เช่าเครื่องลูกข่าย Digital Trunked Radio อีกด้วย ประมาณการรายได้เบื้องต้นของ SDC จากการให้บริการ DTRS แก่ลูกค้าองค์กรทั้งสองราย จำนวน 1,500 ล้านบาท ยังไม่นับรวมมูลค่าเครื่องลูกข่ายที่รอการประมูลอีกกว่า 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทจะทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป
ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 64 SDC ยังเตรียมการเปิดตัว Digital Services ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างรายได้ประจำให้กับ SDC ในอนาคต อีก 2 บริการ ได้แก่ บริการ Horoworld ซึ่งเป็นธุรกิจที่ SDC ริเริ่มและประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในฐานะศูนย์รวมนักพยากรณ์ที่ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ บริษัทจึงมองเห็นโอกาสในการต่อยอด โดยจะมีการขยายขอบข่ายธุรกิจให้ครอบคลุม มุ่งสู่การเป็น Life Consultant ที่สามารถตอบสนองและเข้าถึงผู้ใช้บริการในยุคดิจิทัลมากขึ้น โดยจะมีการเปิดตัว Horoworld Mobile Application ตลอดจนบริการที่เกี่ยวโยงกับความเชื่ออย่างรอบด้าน ภายในสิ้นปีนี้
ส่วนบริการ Mobile Security Application เพื่อตอบโจทย์การป้องกันภัยไซเบอร์บนมือถือ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี Cyber Security และการจับมือกับ Technology Partner ในการพัฒนา Mobile Security Application เพื่อให้คนไทยใช้งานได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ ภายใต้ชื่อ “ปกป้อง” โดยล่าสุดบริษัทได้ร่วมกับ AIS ซึ่งเป็น Mobile Operator ชั้นนำของประเทศ ในการนำเสนอ “ปกป้อง” Application แก่ผู้ใช้บริการมือถือ เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขวางยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ด้วยภัยไซเบอร์ที่กำลังลุกลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMS หลอกลวง ซึ่งสร้างความเสียหายและความรำคาญให้แก่ผู้ใช้บริการมือถือจำนวนมาก บริษัทจึงได้พัฒนาอีกหนึ่ง Mobile Application เพื่อจัดการกับปัญหานี้โดยตรง โดยเตรียมการเปิดให้ดาวน์โหลด เพื่อใช้บริการในเร็วๆนี้
นายวัฒน์ชัย ทิ้งท้ายว่า “การอยู่รอดและเติบโตในยุคปัจจุบันและอนาคตของบริษัท อยู่ที่ความสามารถในการปรับตัวและความรวดเร็วในการนำเสนอสินค้าและบริการ ดังนั้น การลดขนาดองค์กร ลดขั้นตอนการทำงาน และเน้นการเพิ่ม Productivity จึงเป็นการสร้างความ Fit ให้แก่ SDC ซึ่งสิ่งที่ต้องทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง คือ การสร้างความ Firm นั่นคือ การพัฒนาทีมงานรุ่นใหม่ พร้อมเปิดโอกาสให้คิดและทำงานในรูปแบบ Start up รวมทั้งการสานสัมพันธ์กับ Technology & Business Partner ต่างๆ จะส่งผลให้ SDC มีความ Fit & Firm โดยในต้นปีหน้าจะมีการเปิดตัวบริการ Digital Services ใหม่ๆ เพื่อตอกย้ำทิศทางธุรกิจและสร้างฐานรายได้ที่มั่นคงให้แก่ SDC อย่างยั่งยืนต่อไป”
—————————————-