“บิ๊กป้อม” มอบของขวัญชิ้นใหญ่ให้คนไร้ที่ดินทำกิน พร้อมสั่งการ บจธ. – หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือเกษตรกร คนยากจนที่เดือดร้อนและยังเข้าไม่ถึงที่ดินทำกินทั่วประเทศพร้อมผลักดันกฎหมายจัดตั้ง บจธ. พร้อมย้ำเกษตรกร วสช.ฯ ช่องโคพัฒนา พิมายช่วยรักษาและต่อยอดที่ดินให้ถึงลูกหลาน
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 ธันวาคม 2564 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี “บจธ. มอบสิทธิในที่ดินทำกิน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ตามโครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน ของ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ณ วิสาหกิจชุมชนไร่นาสวนผสมเกษตรกรฐานรากช่องโคพัฒนา ตำบลรังกาใหญ่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา โดยมีเกษตรกรที่ทั้งที่ได้รับสิทธิในที่ดินแล้ว และที่อยู่ระหว่างขอความช่วยเหลือเข้าร่วมงานประมาณ 300 คน ในงานดังกล่าว โดยมี พล.ต.อ. เฉลิมเกียรติ ศีรวรขาน ประธานกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) กล่าวรายงานความเป็นมา และ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมากล่าว ต้อนรับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และคณะ
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานในพิธีเปิดงาน บจธ. มอบที่ดินทำกิน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเดินทางติดตามการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ วันที่ 27 ธันวาคม 2564 ณ วิสาหกิจชุมชนไร่นาสวนผสมเกษตรกรฐานรากช่องโคพัฒนา ต.รังกาใหญ่ อ.พิมาย จ. นครราชสีมา ว่า จะเร่งผลักดันกฎหมายจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการที่ดิน ที่สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. กำลังเร่งดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังฝากถึงสมาชิกวิสาหกิจชุมชนฯ ช่องโคพัฒนา ที่ได้รับสิทธิที่ดินทำกินว่าขอให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
“ฝากพี่น้องช่วยกัยรักษาพื้นที่เพื่อต่อยอดให้ลูกหลานของเรา เอาไว้เป็นหลักให้ บจธ. ได้ดำเนินการต่อไป ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนจะได้มีที่อยู่อาศัยที่มากขึ้น บจธ. จะทำทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัย มีที่ดินทำกินที่ยั่งยืน “ พลเอกประวิตรกล่าว
ในงาน บจธ. มอบที่ดินทำกินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย พลตำรวจเอกเฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ประธานกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน นางรวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ และเกษตรกรกว่า 400 คน ให้การต้อนรับ
สำหรับพื้นที่วิสาหกิจชุมชนไร่นาสวนผสมเกษตรกรฐานรากช่องโคพัฒนา ได้รับการสนับสนุนที่ดินทำกินจาก บจธ. เนื้อที่รวม 150 ไร่เศษ สมาชิก 45 ครัวเรือน มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้เต็มศักยภาพ มีผลผลิตสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือน จนเป็นพื้นที่ต้นแบบ หรือตัวอย่างความสำเร็จ (Best Practice) ของ บจธ. ที่จังหวัดนครราชสีมาพร้อมจะนำไปขยายผลแก้ปัญหาที่ดินทำกินในพื้นที่ 32 อำเภอต่อไป
พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ประธานกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน กล่าวว่า จากปัญหาความเหลื่อมล้ำในที่ดินทํากิน ที่อยู่อาศัย และ ความยากจน ประชาชนที่ไม่มีที่ดินทํากิน และไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง รวมถึง ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการจํานวนมากปิดกิจการ ทําให้ประชาชนไม่มีงานทํา และขาดรายได้ในการดํารงชีพ รัฐบาลจึงได้มอบนโยบายให้ บจธ. ซึ่งป็นหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญของประเทศเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งการช่วยเหลือประชาชนให้มีที่ดินทํากิน และมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยต้องเร่งกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน รวมทั้งป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดิน จากการจํานอง การขายฝาก และ การถูกบังคับคดี
ทั้งนี้จากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนจํานวนมากได้รับผลกระทบ หลายบริษัทห้างร้านเลิกจ้างพนักงาน หรือโรงงานปิดตัวลง ผู้คนเดินทางกลับภูมิลำเนาไม่มีอาชีพรองรับ บจธ. ต้องให้ความช่วยเหลือ และน้อมนําหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ สู่การปฏิบัติเพื่อพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนในทุกพื้นที่ พร้อมทั้งบูรณาการร่วมกับหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้มีการใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน จนนำมาสู่ความสำเร็จ ในการดำเนินการ นำความสุขความภาคภูมิใจมาให้แก่เกษตรกร ถือเป็นของขวัญปีใหม่ของรัฐบาลในปี 2565 ที่ใกล้จะถึงนี้ บจธ. จึงได้จัดพิธี “บจธ. มอบสิทธิในที่ดินทำกิน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาเกษตรกร ผู้ยากจน และพี่น้องที่ว่างงานของรัฐบาล และเพื่อให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ซึ่งขณะนี้ บจธ. อยู่ระหว่างการเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. …. ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ภายในเดือนมกราคม 2565 นี้
นายกุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนายการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บจธ. ได้มุ่งมั่น ลดความเหลื่อมล้ำเรื่องที่ดินทำกิน โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางให้เกษตรกรในการทำการเกษตร เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บจธ. มีภารกิจที่สำคัญในการจัดหาและพัฒนาที่ดิน โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของพี่น้องเกษตรกรและชุมชน ให้พึ่งพาตัวเองได้
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน บจธ. ได้ให้การช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ไปแล้ว 11 พื้นที่ และสหกรณ์การเกษตร 1 พื้นที่ ครอบคลุมทั้ง 5 ภาค (ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้) เนื้อที่รวม 1,234 – 2 -17.7 ไร่ จำนวน 482 ครัวเรือน และแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินไปแล้ว 387 ราย โครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน เนื้อที่ 717 ไร่เศษ จำนวนเกษตรกร 500 ครัวเรือน โดยทุกชุมชนมีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าชื่นชมมาก เกษตรกรทุกพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รายละเอียดโครงการ ประกอบไปด้วย
1.โครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน เป็นการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร ที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ให้มีที่ดินทำกินและได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน โดยกลุ่มต้องจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มสหกรณ์ และมองหาที่ดินที่ต้องการใช้ประโยชน์ในรูปแบบกรรมสิทธิ์แบบแปลงรวม บจธ. จะเป็นผู้เจรจาร่วมกับกลุ่มสมาชิกจัดซื้อที่ดินเพื่อนำมาให้ เช่า หรือเช่าซื้อระยะยาวไม่เกิน 30 ปี ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ สนับสนุนการจัดทำผังแปลงที่ดินตามหลักภูมิสถาปัตย์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงสินเชื่อเพื่อพัฒนาที่ดิน และที่อยู่อาศัย
ทั้งนี้โดยปัจจุบัน บจธ. ได้ให้การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนไปแล้ว 11 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และ 1 สหกรณ์การเกษตร ใน 5ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา ภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี ภาคตะวันตก จังหวัดตาก จังหวัดเพชรบุรี และภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกษตรกรได้รับความช่วยเหลือ จำนวน 482 ครัวเรือน จำนวนที่ดิน 1,234 – 2 -17.7 ไร่ ซึ่งมีตัวอย่างที่เห็นภาพความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรมคือพื้นที่ภาค
ส่วนในตะวันออกเฉียงเหนือคือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไร่นาสวนผสมเกษตรกรฐานรากช่องโคพัฒนา ตำบลรังกาใหญ่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา มีเกษตรกรและผู้ยากจนที่ได้รับความช่วยเหลือจำนวน ๔๕ ครัวเรือน สมาชิกบางส่วนเป็นผู้ไร้ที่ดินทำกิน บางส่วนถูกเจ้าของที่ดินบอกเลิกเช่า และบางส่วนได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายโครงการการพัฒนาของภาครัฐ ในการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ เส้นทางกรุงเทพ-หนองคาย และกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกทวงพื้นที่ผืนป่า สมาชิกจึงได้มีการรวมกลุ่มกันและยื่นหนังสือขอรับความช่วยเหลือจาก บจธ. ต่อมา บจธ. ได้มีการจัดซื้อที่ดินโดยมีการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของ บจธ. เนื้อที่ 150 – 0 -17 ไร่ และได้มีการทำสัญญาเช่ากับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ เป็นระยะเวลา ๒ ปี เพื่อให้กลุ่มเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งการวางแผนการดำเนินงาน การบริหารจัดการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการเช่าซื้อตามหลักเกณฑ์ของ บจธ. ต่อไป ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ได้มีการจัดสรรแบ่งแปลงให้เกษตรกรเข้าไปใช้ประโยชน์เรียบร้อยแล้ว กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ มีการบริหารจัดการกลุ่มที่ดี สมาชิกมีความเข้มแข็ง ให้ความร่วมมือในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้เต็มศักยภาพ พื้นที่มีความก้าวหน้าในการดำเนินงาน และมีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่จนเกิดผลผลิตและสามารถสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนได้ ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบ หรือตัวอย่างความสำเร็จ (Best Practice) ของการดำเนินงานของ บจธ.
2. โครงการแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน บจธ. ได้ช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาจะสูญเสียสิทธิในที่ดิน หรือสูญเสียสิทธิไปแล้ว โดยการสนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรเพื่อนำไปไถ่ถอนที่ดินจากสถาบันการเงินและเจ้าหนี้นอกระบบ จากการจำนอง ขายฝาก และชำระหนี้ตามคำพิพากษา เพื่อคงสิทธิในที่ดิน รวมไปถึงจัดซื้อที่ดินของลูกหนี้ที่ถูกขายทอดตลาด หรือหลุดขายฝากไปแล้ว ในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อคงสิทธิให้เกษตรกรและผู้ยากจนได้กลับมามีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในที่ดินของตนเองต่อไป และให้สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมแก่เกษตรกรเพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ ปัจจุบัน บจธ. ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว 387 ราย รวมเนื้อที่ทั้งหมด 2,319-0-55.9 ไร่
3. โครงการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาด้านที่ดินจากการดำเนินนโยบายของรัฐ มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ยากจน ที่ประสบปัญหาด้านที่ดินจากการดำเนินนโยบายของรัฐ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และทางหลวงสายพิเศษ บางปะอิน–นครราชสีมา เป็นต้น บจธ. จะสนับสนุนสินเชื่อสำหรับจัดซื้อที่ดินให้เกษตรกร ผู้ยากจนมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ในรูปแบบแปลงรวมถือกรรมสิทธิ์ร่วม และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ในการทำเกษตรกรรม เพื่อให้สามารถดำรงชีพได้อย่างมั่นคง ปัจจุบันมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนไปแล้ว 2 กลุ่ม พื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา มีเกษตรกรได้รับความช่วยเหลือ 53 ครัวเรือน รวมเนื้อที่ทั้งหมด 103-2-51.3 ไร่
4. โครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน (ดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน) บจธ. ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพในพื้นที่เป้าหมายให้มีที่ดินทำกินและอยู่อาศัยตามรูปแบบที่ บจธ. กำหนด ซึ่ง บจธ. ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน จำนวน 500 ครัวเรือน โดยได้จัดซื้อที่ดินตามแผนโครงการดังกล่าว เป็นจำนวนที่ดิน 741-3-91.5 ไร่
เกษตรกรและผู้ยากจนที่ประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกินสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่
– กรณีขอรับความช่วยเหลือในการกระจายการถือครองที่ดิน ติดต่อ กองบริหารจัดการที่ดิน โทร 0 2278 1648 ต่อ 501, 511
– กรณีขอรับความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิหรือจะสูญเสียสิทธิในที่ดิน ติดต่อ กองบริหารสินเชื่อ โทร 0 2278 1648 ต่อ 601, 602, 610
หรือสอบถามพูดคุยได้ที่ inbox เว็บไซต์ https://www.labai.or.th/
————————————-