หลักทรัพย์บัวหลวง สุดปลื้มผลงานปี64ระดมทุนกว่าแสนห้าหมื่นล้านบาท

หลักทรัพย์บัวหลวง สุดปลื้มผลงานกิจการวาณิชธนกิจ ปี 64 โดดเด่น รวมมูลค่าระดมทุนกว่า 150,000      ล้านบาท ตอกย้ำความแข็งแกร่งด้วย 12 รางวัล การันตีจากสถาบันชั้นนำ จับตาไม่เกินสิ้นปีมีไอพีโอระดับ Jumbo Deal ให้ฮือฮาแน่นอน

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) หรือหลักทรัพย์บัวหลวง เปิดเผยว่า กิจการวาณิชธนกิจ (Investment Banking) ภายใต้การดูแลของนายวรารัตน์ ชุติมิต กรรมการผู้จัดการอาวุโส กิจการวาณิชธนกิจ มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและโดดเด่นตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปี 2564 ที่ผ่านมา หลักทรัพย์บัวหลวงได้ร่วมระดมทุนรวมกันกว่า 150,000 ล้านบาท ให้แก่บริษัทชั้นนำในธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลายในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการระดมทุนในประเทศและต่างประเทศในรูปแบบ Initial Public Offering แบบ Public Offering แบบ Rights Offering และแบบ Private Placement แม้ในช่วงที่ผ่านมาสภาวะตลาดทุนมีความท้าทายและมีความผันผวนสูงจากหลายปัจจัย

ทั้งนี้โดยผลงานที่สำเร็จและได้รับการยอมรับในแวดวงตลาดทุน มีทั้งที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Initial Public Offering หรือ IPO) จำนวน 3 รายการ คิดเป็นมูลค่าระดมทุนรวมมากกว่า 56,000 ล้านบาท ในหมวดธุรกิจด้านพลังงานและสาธารณูปโภค เทคโนโลยี และการเกษตร นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา หลักทรัพย์บัวหลวงยังเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายในการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน (Public Offering หรือ PO) 1 รายการ โดยมีมูลค่าระดมทุนประมาณ 48,000 ล้านบาท นอกจากนี้ หลักทรัพย์บัวหลวงยังเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการปรับโครงสร้างและช่วยบริษัทในอุตสาหกรรมการบินและท่องเที่ยวให้สามารถระดมทุนได้ในช่วงสถานการณ์    COVID-19 ที่ผ่านมา โดยมีมูลค่ารวมกว่า 23,000 ล้านบาท

“หลักทรัพย์บัวหลวงมีความภาคภูมิใจอย่างมาก ที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างประวัติศาสตร์ให้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2564 โดยหลักทรัพย์บัวหลวงได้นำบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (“OR”) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นการระดมทุน IPO ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหลักทรัพย์บัวหลวงยังได้ระดมทุนให้บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) (“MAKRO”) ซึ่งเป็นการระดมทุนแบบ PO ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเช่นกัน” นายพิเชษฐกล่าว

นอกจากนี้ ในปี 2564 หลักทรัพย์บัวหลวงยังได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าให้เป็นผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อและตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer) จำนวน 6 รายการ ได้แก่ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามฟิวเจอร์     ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง จํากัด (มหาชน) โดยมีมูลค่า ณ วันประกาศการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์รวมกว่า 560,000 ล้านบาท นอกจากนี้ หลักทรัพย์บัวหลวงยังได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนในการรับจองซื้อในการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อผู้ถือหุ้นเดิม (Rights Offering) ทั้งหมด 2 รายการ โดยมีมูลค่าระดมทุนรวมกว่า 10,000 ล้านบาท และเป็นผู้ช่วยระดมทุนต่อผู้ลงทุนในวงจำกัด (Private Placement) จำนวน 5 รายการ มูลค่าระดมทุนประมาณ 31,000 ล้านบาท

“จากผลงานที่ยอดเยี่ยมของกิจการวาณิชธนกิจในปี 2564 ซึ่งมีมูลค่าการระดมทุนที่สูงกว่า 150,000 ล้านบาท และมีความหลากหลายของประเภทรายการ ทำให้หลักทรัพย์บัวหลวงสามารถคว้า 9 รางวัล ในปี 2564 และได้รับอีก 3 รางวัลในช่วงต้นปี 2565  รวมทั้งสิ้น 12 รางวัล ในหลายสาขา ทั้งในด้าน Investment Banking และการระดมทุนในตลาดทุน (Equity Capital Markets) จากสถาบันชั้นนำระดับสากลถึง 6 แห่ง ยกตัวอย่างเช่น สถาบัน Finance Asia และสถาบัน Alpha Southeast Asia โดยหลักทรัพย์บัวหลวงได้รับรางวัลจากสถาบันการเงินชั้นนำเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งความสำเร็จนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากหลักทรัพย์บัวหลวงไม่ได้รับการยอมรับและไว้วางใจจากทั้งลูกค้าและนักลงทุน ที่เป็นพันธมิตรที่ดีมาตลอด ทางเราจึงอยากขอขอบคุณบริษัทชั้นนำทั้งหลาย ตลอดจนนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยและผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่ให้ความเชื่อมั่นและให้โอกาสเราให้มีส่วนร่วมที่ทำให้เราเป็นกิจการวาณิชธนกิจชั้นนำจนถึงทุกวันนี้” นายพิเชษฐกล่าว

สำหรับแผนงานในปี 2565 นายพิเชษฐเผยต่อว่า กิจการวาณิชธนกิจของหลักทรัพย์บัวหลวง ยังคงได้รับการยอมรับจากบริษัทชั้นนำของประเทศไทย ให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าจะมีดีลไอพีโอ (IPO) ทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ในช่วงครึ่งปีหลังอีกหลายบริษัท ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อยื่นไฟลิ่งกับสำนักงาน ก.ล.ต. และมั่นใจว่าจะเป็นไอพีโอที่น่าสนใจและคาดว่าจะได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุน

                                                         ————————————————-

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *