กระทรวงทรัพย์ – ตาก ปลื้มไทยเป็นเจ้าของสถิติโลก GWR “ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก” อย่างเป็นทางการ
ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก และนายก อบจ. ตาก ในฐานะผู้อำนวยการอุทยานธรณีไม้กลายเป็นหินตาก รับมอบสถิติโลก “ไม้ตาก” ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก อย่างเป็นทางการจากกินเนสส์ เวิร์ล เรคคอร์ด (Guinness World Records) แล้ววันนี้ หลังจากที่ได้ร่วมมือกับสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทยดึงภาคเอกชนชั้นนำอย่าง ปตท. และปตท.สผ. ร่วมผลักดันการรับรองสถิติโลกในครั้งนี้มานานนับปี หวังเปิดมิติใหม่ของการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาของจังหวัดตาก พร้อมผลักดันสู่อุทยานธรณีไม้กลายเป็นหินตาก ส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเยาวชนและสร้างเสริมเศรษฐกิจชุมชนต่อไป
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมนี้ เวลา 13.30 น. ณ อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย – ไม้กลายเป็นหิน (เตรียมการ) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)มอบหมายให้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่เป็นประธานรับมอบเอกสารรับรองในงานบันทึกสถิติโลก “ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก” ต่อกินเนสส์ เวิร์ล เรคคอร์ด (Guinness World Records : GWR ) โดยมี นายพงศ์บุณย์ ปองทอง อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก ในฐานะผู้อำนวยการอุทยานธรณีไม้กลายเป็นหินตาก และ นายกนก อินทรวิจิตร นายกสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย เข้าร่วมในงาน โดย “ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก” มีความยาวถึง 69.70 เมตร หรือเทียบเท่ากับความสูงของตึก 20 ชั้น เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.80 เมตร ซึ่งการค้นพบไม้กลายเป็นหินที่มีความยาวขนาดนี้ แสดงถึงทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของจังหวัดตากในอดีต ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้อย่างต่อเนื่อง และยังเป็นครั้งแรกของไทยที่ได้เป็นเจ้าของสถิติโลกในด้านมรดก ทางธรรมชาติ
ทั้งนี้ การบันทึกสถิติโลกในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย องค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก เทศบาล อบต. รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดตาก อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย-เขื่อนภูมิพล และยังได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และวิศวกรอาสาจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สาขาภาคตะวันตก) นับได้ว่าเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวเปิดงานว่า แหล่งไม้กลายเป็นหิน จังหวัดตาก มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ควรค่าแก่การอนุรักษ์และศึกษาเรียนรู้ ถือเป็นความภาคภูมิใจที่ประเทศไทยมีทรัพยากรธรณีที่มีความอุดมสมบูรณ์จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนด้วย ซึ่งถือเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในจังหวัดตาก จะร่วมกันดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรณี รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ให้มีความสมบูรณ์ โดยย้ำว่า “ท้าทายกว่าการได้มาคือการรักษา” เพื่อส่งต่อไปยังคนรุ่นถัดไปได้ใช้ประโยชน์ และแสดงความชื่นชมกรมทรัพยากรธรณี รวมถึงภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ที่ร่วมกันผลักดันการบันทึกสถิติโลกในครั้งนี้จนเป็นผลสำเร็จ
นายพงศ์บุณย์ ปองทอง อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานในครั้งนี้ว่า การจัดงานบันทึกสถิติโลก เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรธรณี “ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก” ที่มีความยาวมากถึง 69.70 เมตร ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยาในจังหวัดตาก ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัย ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติและส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งสร้างเครือข่ายยุวมัคคุเทศก์ ตั้งแต่ระดับนิสิต นักศึกษา รวมถึงน้องๆ นักเรียน เพื่อให้เกิดความรักและความหวงแหนต่อทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น เป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสำหรับอนาคต และเพื่อให้มีการบริหารจัดการทรัพยากรธรณีเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า การรับรองสถิติไม้กลายเป็นหินที่มีความยาวที่สุดในโลกอย่างเป็นทางการในวันนี้ ทำให้จังหวัดตากเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ซึ่งส่งผลดีในด้านการท่องเที่ยวและวิชาการ สำหรับในอนาคต จังหวัดตากจะพยายามพัฒนาพื้นที่ให้เป็นอุทยานธรณี หรือ GEO PARK โดยต้องอาศัยความร่วมมือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรณีและทรัพยากรธรรมชาติ จากประชาชน ชุมชน ซึ่งจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการเชื่อมโยงในธรณีวิทยากับวิถีชีวิต เศรษฐกิจชุมชนที่จะทำให้เกิดการขยายงานและการจ้างงานเพิ่มขึ้น
นายณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก ในฐานะผู้อำนวยการอุทยานธรณีไม้กลายเป็นหินตาก กล่าวว่า การบันทึกสถิติโลกในครั้งนี้ จะทำให้ชุมชนและประชาชนรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของแหล่งทรัพยากรธรณี ซึ่งจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจและความตระหนักถึงความสำคัญของไม้กลายเป็นหินตาก เกิดการอนุรักษ์ พัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวระดับสากล รวมทั้งจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้เกิดการบูรณาการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในอุทยานธรณีไม้กลายเป็นหินอย่างสร้างสรรค์ และมีความเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่จังหวัดตาก
ด้านนายกนก อินทรวิจิตร นายกสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การรับรองสถิติในครั้งนี้ สมาคมฯ ในฐานะผู้รวบรวมข้อมูลเพื่อการขอรับรองจาก GWR ทำให้เกิดการรวบรวมองค์ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับไม้กลายเป็นหิน โดยเฉพาะการอนุรักษ์มรดกธรรมชาติทางธรณีวิทยา และการศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เราได้ล่วงรู้จากไม้กลายเป็นหินที่นี่ โดยเฉพาะการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับภัยพิบัติในอดีต และการเปลี่ยนแปลงของโลกจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะในพื้นที่บริเวณที่พบไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลกนี้ ยังค้นพบไม้กลายเป็นหินที่เป็นต้นไม้ใหญ่อีก 6 ต้น ความยาวราว 30 – 45 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-2.0 เมตร และคาดว่าน่าจะมีไม้กลายเป็นหินอีกเป็นจำนวนมากในบริเวณนี้ นับเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ ที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะไม่มีแหล่งซากดึกดำบรรพ์ใดในโลกที่มีการพบไม้กลายเป็นหินขนาดใหญ่รวมกันเช่นนี้มาก่อน
สำหรับการได้รับรองสถิติ “ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก” อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน (เตรียมการ) ในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนเข้าใจการอนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติและการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทั้งโดยภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เกิดความภาคภูมิใจและหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งเป็นแหล่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวไปยังท้องถิ่นในอนาคต
—————————————