สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ จัดงานแถลงข่าวผลรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 21 ประจำปี 2565 ณ ห้องมณียา แกรนด์บอลรูม บี โรงแรมเรเนซองส์ ราชประสงค์ โดยมี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.ณัฐพล รังสิตพล มาร่วมเป็นประธานในพิธี พร้อมกล่าวแสดงความยินดีต่อองค์กรไทยที่ได้รับรางวัลในปีนี้
นำโดย กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) องค์กรผู้คว้ารางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA) รางวัลอันทรงเกียรติที่แสดงถึงศักยภาพในการบริหารจัดการองค์กรที่เป็นเลิศ ทัดเทียมระดับสากล ตามด้วย 11 องค์กรไทยจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่มุ่งมั่นปรับปรุงและพัฒนาองค์กร จนได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านลูกค้า บุคลากร การปฏิบัติการ หรือนวัตกรรม (Thailand Quality Class Plus: TQC Plus) และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class: TQC)
ในการนี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.ณัฐพล รังสิตพล ได้กล่าวถึงความสำคัญของ รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ สอดรับกับนโยบาย MIND ของทางกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า “กระทรวงอุตสาหกรรม ได้สนับสนุนให้องค์กรไทยนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปประยุกต์ใช้ และมีการมอบรางวัลอย่างต่อเนื่องทุกปี เพราะเล็งเห็นถึงศักยภาพของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ในด้านการตอบสนองต่อทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การขับเคลื่อนผลิตภาพ และยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันขององค์กรไทย ไม่ใช่แค่เฉพาะในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งภาคบริการ ภาครัฐวิสาหกิจ และภาคการศึกษา โดยมุ่งส่งเสริมให้มีการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมไปใช้เพื่อพัฒนาองค์กร และส่งมอบคุณค่าคืนกลับมาสู่ประเทศชาติ ยิ่งไปกว่านั้น เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติยังมีกลไกที่เป็นรูปธรรมต่อการสนับสนุนสังคม ชมชุน และดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาลให้ความสำคัญ” ดร.ณัฐพล กล่าว
ตามด้วยการประกาศรายชื่อองค์กรที่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประจำปี 2565 โดย รองประธานกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ซึ่งในปีนี้ มีองค์กรที่ได้รับรางวัลจำนวนทั้งสิ้น 12 องค์กร ดังนี้
รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) จำนวน 1 องค์กร ได้แก่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่น ด้านลูกค้า (Thailand Quality Class Plus : Customer) จำนวน 1 องค์กร ได้แก่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่น ด้านบุคลากร (Thailand Quality Class Plus : People) จำนวน 2 องค์กร ได้แก่
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
- มหาวิทยาลัยมหิดล
รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่น ด้านการปฏิบัติการ (Thailand Quality Class Plus : Operation) จำนวน 2 องค์กร ได้แก่
- กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ฟีนอล บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
- บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด
รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class) จำนวน 6 องค์กร ได้แก่
- กลุ่มธุรกิจการตลาด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน)
- คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
พร้อมกล่าวถึงผลลัพธ์และกลยุทธ์ในการสนับสนุนให้รางวัลคุณภาพแห่งชาติ เป็นเครื่องมือยกระดับศักยภาพการบริหารจัดการ และเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันขององค์กรไทย พร้อมกล่าวถึงการมอบรางวัลใหม่อีก 2 รางวัลในปีถัดไป ได้แก่ รางวัล TQA: Global Excellence ซึ่งเป็นรางวัลที่จะมอบแก่องค์กรที่มีความเป็นเลิศ ในระดับที่เป็น Benchmark Leader ไปจนถึงระดับ World Leader โดยจะต้องมีคะแนนตั้งแต่ 750 คะแนน พร้อมด้วยการดำเนินงาน และผลลัพธ์ ที่สะท้อนถึงความเป็นผู้นำทางธุรกิจอย่างชัดเจน และ รางวัล TQC Plus: Societal Contribution เป็นรางวัลที่มอบแก่องค์กรที่มีระดับคะแนน 450 คะแนนขึ้นไป โดยมีความโดดเด่นด้านการสร้างความผาสุกของสังคม และการสนับสนุนชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม
ตามด้วยการกล่าวรายงานบทบาทและการดำเนินงานที่สำคัญของสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ในปี 2566-2567 โดย นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ
“รางวัลคุณภาพแห่งชาติ เป็นรางวัลระดับโลก โดยเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ถือเป็นบรรทัดฐานสำหรับการประเมินองค์กรที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับองค์กรทุกประเภทและทุกขนาด จากผลวิจัยสมรรถนะขององค์กร พบว่า องค์กรที่นำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปประยุกต์ใช้ องค์กรมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นในหลายด้าน อาทิ ด้านนวัตกรรม ด้านสมรรถนะ และด้านผลิตภาพ
ในปี 2566 สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ยังคงมุ่งดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้เพื่อขยายการนำเกณฑ์ไปประยุกต์ใช้ในองค์กรทุกภาคส่วนอย่างครอบคลุม ทั้งการจัดให้มีการเพิ่มรางวัลใหม่ และการวางแนวทางสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจขององค์กรที่ได้รับรางวัลให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสนับสนุนซึ่งกันและกัน รวมถึง การขยายการดำเนินงานเพื่อให้องค์กรในทุกภาคธุรกิจนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปใช้ อาทิ การใช้เกณฑ์ TQA เป็นเกณฑ์ในการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอก ระดับอุดมศึกษา และการออกแบบเครื่องมือ SMART-Ex Program เพื่อสนับสนุนองค์กรที่ต้องการเริ่มต้นนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปใช้”
ทั้งนี้ นายสุวรรณชัย ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงเป้าหมายของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ในการให้ความสำคัญด้านการกำกับดูแลองค์กรและการตอบแทนสังคม (Governance and Societal Contributions) เพื่อสนองต่อนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการปรับเปลี่ยนและพัฒนาองค์กรภาคอุตสาหกรรมให้เป็นที่ยอมรับต่อชุมชน และพร้อมด้วยศักยภาพที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต