กยท. ลง MOU ธ.ก.ส. คลอดโฉนดต้นยางพารา แปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน ต่อยอดอาชีพเกษตรได้อย่างยั่งยืน

กยท. จับมือ ธ.ก.ส. ลงนาม MOU  “การส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มสวนยางพารา และการจัดทำโฉนดต้นยางพารา” โดยมี รมว.กษ. เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนาม ระหว่างนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท  ผู้ว่าการ กยท. และ นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. มุ่งแปลงสินทรัพย์จากสวนยางเป็นทุน เพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สู่ความกินดีอยู่ดีของชาวสวนยาง พร้อมขับเคลื่อนโครงการ Carbon Credit ในสวนยางพารา เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

          ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายจัดทำโครงการโฉนดต้นไม้สำหรับต้นไม้ที่เป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อให้เกษตรกรนำไม้ยืนต้นไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินกับ ธ.ก.ส. เป็นการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกร เพื่อต่อยอดอาชีพด้านการเกษตรได้อย่างยั่งยืน การร่วมมือกันของทั้งสองหน่วยงานในการจัดทำโฉนดต้นยางพาราครั้งนี้ จึงเป็นการขับเคลื่อนให้เกษตรกรชาวสวนยางสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินได้มากขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทั้งสองหน่วยงานจะร่วมมือกันดำเนินกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารา อาทิ การขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ Carbon Credit ในสวนยางพารา การส่งเสริมการขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งจะนำไปสู่ความกินดีอยู่ดีของเกษตรกรไทย

ด้านนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ( กยท.) กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า กยท. ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ร่วมมือกับ ธ.ก.ส. บรรจุต้นยางพาราให้เป็นไม้ชนิดหนึ่งในระบบค้ำประกันเงินกู้ และดำเนินการจัดทำโฉนดต้นยางพาราเพื่อใช้เป็นหลักประกันเงินกู้จาก ธ.ก.ส. ซึ่งเกษตรกรที่สามารถขอรับโฉนดต้นยางจะต้องขึ้นทะเบียนกับ กยท. และมีสวนยางตั้งอยู่บนดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปลงทรัพย์สินให้เป็นทุนสำหรับการประกอบอาชีพการทำสวนยาง

ทั้งนี้ โดยใช้โฉนดต้นยางพาราเป็นเอกสารประกอบการขอรับบริการสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่ให้บริการ โดย กยท. จะเป็นผู้ประเมินราคาต้นยางพาราที่จะนำมาใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อกับ ธ.ก.ส. และจัดทำโฉนดต้นยางพาราเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาขอสินเชื่อของ ธ.ก.ส. ทุกครั้ง ทั้งนี้ จะผลักดันให้สามารถใช้ได้กับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ตลอดจนใช้เป็นหลักทรัพย์ประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน โดยจะเร่งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ต่อไปโดยเร็ว

นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากลงนาม MOU ร่วมกันในครั้งนี้ กยท. และ ธ.ก.ส. จะมีการอบรมผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ทั่วประเทศ ให้มีความรู้เรื่องวิธีการประเมินมูลค่าไม้ยางพารา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงานร่วมกันประเมินมูลค่าไม้ยางพาราสำหรับใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ นอกจากนี้ กยท. และ ธ.ก.ส. จะร่วมกัน บูรณาการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรม และพัฒนาศักยภาพด้านการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ Carbon Credit ในสวนยาง ส่งเสริมให้เกษตรกรร่วมกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกสร้างสมดุลเชิงนิเวศ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการขายผลผลิตจากยางพาราเพียงอย่างเดียว

 นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า การร่วมมือกับกยท. ในครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์กับและ ธ.ก.ส. เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราและบุคลากรของ ธ.ก.ส. เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำนวัตกรรมไปพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิต การส่งเสริมการจัดทำโฉนดต้นยางพารา เพื่อใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อกับ ธ.ก.ส.

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. และ กยท. พร้อมร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจสีเขียวตามนโยบายด้านการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่มีการส่งเสริมให้เกษตรกรนำสวนยางพาราไปขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) รวมถึงเข้าร่วมโครงการ BAAC Carbon Credit ที่จะช่วยสร้างอาชีพเสริมและสร้างรายได้ให้เกษตรกร ซึ่ง ธ.ก.ส. เตรียมเปิดตัวการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้เต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ที่ธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่และบ้านแดง จังหวัดขอนแก่น

                                      —————————————

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *