“มนพร”ปลื้ม แหลมฉบังเฟส3เดินหน้าหลัง กทท.ลงนาม”CSCC”

“มนพร” เดินหน้าแหลมฉบัง เฟส 3 ส่วนที่ 2 งานโครงสร้างพื้นฐาน – สิ่งอำนวยความสะดวก – ระบบโครงข่ายขนส่ง มั่นใจเปิดให้บริการได้ตามแผนในปี 2570 สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ – การลงทุนในภูมิภาคเอเชีย

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นหนึ่งในโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนที่รัฐบาลให้ความสำคัญตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) การที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด ได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 ในวันนี้ จึงถือเป็นความคืบหน้าที่ดีในการผลักดันให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าสู่การลงทุนในภูมิภาคเอเชีย พร้อมรองรับปริมาณตู้สินค้าที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต โดยจะเป็นการเริ่มงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค โครงข่ายและระบบการขนส่งต่อยอดจากการดำเนินงานส่วนที่ 1 ซึ่งเป็นงานก่อสร้างทางทะเลที่อยู่ระหว่างเร่งรัดให้กิจการร่วมค้า CNNC ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนด

              นางมนพร กล่าวต่อว่า ได้กำชับให้ กทท. กำกับ ควบคุม และดูแลการดำเนินงานในส่วนที่ 2 นี้ ให้สำเร็จลุล่วงตามกรอบเวลา เพื่อให้มีความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ให้กิจการร่วมค้า GPC ได้ในเดือนพฤศจิกายน 2568 และสามารถเปิดให้บริการท่าเรือ F ได้ภายในสิ้นปี 2570 ซึ่งจะส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบังสามารถรองรับตู้สินค้าได้เพิ่มขึ้นอีก 4 ล้านทีอียูต่อปี รวมเป็น 15 ล้านทีอียูต่อปี จากเดิมที่ระยะที่ 1 และ 2 สามารถรองรับได้ 11 ล้านทีอียูต่อปี

              นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ท่าเรือมีโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนโครงข่ายและระบบการขนส่งที่ต่อเนื่อง พร้อมรองรับการขยายตัวของปริมาณสินค้าทางเรือ การขนส่งสินค้าทางรถไฟ และสินค้าประเภทต่าง ๆ การดำเนินงานประกอบด้วยงานก่อสร้างหลักที่สำคัญ ได้แก่ งานระบบถนน งานอาคาร งานระบบสาธารณูปโภค งานท่าเทียบเรือชายฝั่ง และงานท่าเทียบเรือบริการ รวมถึงการวางระบบการเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งสินค้าภายในประเทศ เพื่อรองรับการสร้างรางรถไฟเข้าไปถึงบริเวณหลังท่าเทียบเรือ ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบรางที่สำคัญที่จะทำให้การขนส่งตู้สินค้าทางรางมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนมาสู่ทางรางและทางน้ำ รวมทั้งสนับสนุนการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีท่าเรือสมัยใหม่ที่มีศักยภาพสูงตลอดจนการเป็นท่าเรือที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม อาทิ ระบบยกตู้สินค้าอัตโนมัติในลานกองตู้สินค้า ยานพาหนะแบบไร้คนขับ (Automated Guided Vehicle : AGV) ระบบการตรวจสอบและอ่านหมายเลขตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Optical Character Recognition : OCR) เพื่อสแกนข้อมูลบนตู้สินค้าโดยอัตโนมัติ ลดความผิดพลาดในการนำส่งข้อมูล เป็นต้น โดยบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด ผู้รับจ้างจะต้องปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 1,260 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งจาก กทท. ให้เริ่มงาน ด้วยวิสัยทัศน์ “ มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก พร้อมการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี ๒๕๗๓ ”และค่านิยม: S M A R T : Standard, Mastery, Agility, Responsibility, Teamwork

              นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มีการแบ่งงานก่อสร้างหลัก ายใต้ความรับผิดชอบของ กทท. ออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเล ดำเนินงาน โดยกิจการร่วมค้า CNNC ซึ่งขณะนี้งานถมทะเลในภาพรวมมีความคืบหน้า 36% ส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภคที่ได้มีการลงนามในวันนี้ ส่วนที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ และส่วนที่ 4 งานจัดหาเครื่องมือ พร้อมจัดหาและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยงานส่วนที่ 3 และ 4 อยู่ระหว่างการจัดทำ ร่าง TOR คาดว่าจะสามารถประกาศประกวดราคาได้ภายในต้นปี 2568

              ด้าน Mr. Jiang Houliang กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคบริษัท China Harbour Engineering Company กล่าวว่า บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในงานก่อสร้างท่าเรือทั่วโลก รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศไทยมาอย่างยาวนานด้วยความพร้อมและความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมระดับสากล เชื่อมั่นว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 ให้เป็นไปอย่างมาตรฐานและสำเร็จลุล่วงตามกรอบระยะเวลาตามสัญญาที่กำหนดได้อย่างแน่นอน

              Mr. Wang Haiguang กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ บริษัทฯ ครบรอบการก่อตั้งเป็นปีที่ 30 ซึ่งครั้งหนึ่งได้เคยก่อสร้างท่าเทียบเรือให้กับบริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นท่าเทียบเรือที่ทันสมัยแห่งหนึ่งในประเทศไทย และในปีนี้นับเป็นความภาคภูมิใจอีกครั้งที่ได้ร่วมดำเนินการโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 นเมกะโปรเจ็กต์ที่สำคัญของประเทศไทย

              ทั้งนี้ กทท. ได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค ร่วมกับบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องประชุมชั้น 19 อาคารที่ทำการ กทท. โดยมี นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานสักขียาน พร้อมด้วยนายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รศ.ดร.คณิต วัฒนวิเชียร หัวหน้าคณะผู้สังเกตการณ์โครงการข้อตกลงคุณธรรมงานจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง คณะผู้แทนคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คณะกรรมการ กทท. ผู้บริหาร กทท. ผู้บริหารบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด และสื่อมวลชน ร่วมงาน

                                                               ———————————————

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *