4 องค์กร เตรียมจัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ“การพัฒนาสินค้าท้องถิ่น สู่ตลาดสากล”เพิ่มมูลค่า สร้างความแตกต่าง คุณภาพที่ได้มาตรฐาน พร้อมขยายตลาดต่างประเทศ
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) เตรียมจัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาสินค้าท้องถิ่น สู่ตลาดสากล” ในวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ณ ห้องสัมมนาชั้น 1 Coco View Hotel จังหวัดสมุทรสงคราม
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เล็งเห็นความสำคัญที่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยมีการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยตระหนักดีว่าสินค้าไทยมีความหลากหลาย มีคุณภาพ ทั้งของกิน-ของใช้ จึงมุ่งมั่นที่จะแบ่งปันสิ่งดีดีผลักดันสินค้าไทย ตามนโยบายการขับเคลื่อน Happy Model (กินดี อยู่ดี ออกกำลังกายดี แบ่งปันสิ่งดีดี) ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ โดยการเพิ่มมูลค่า สร้างความเป็นโดดเด่นไม่เหมือนใคร ควบคู่กับคุณภาพที่มี พร้อมทั้ง ขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 4 หน่วยงานดังกล่าวยังคงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสินค้าท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ 3 โดยในปีนี้จะจัดกิจกรรมที่จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับฟังประสบการณ์ตรงจากผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นด้านการพัฒนาสินค้าท้องถิ่น เพื่อพัฒนาไปสู่ตลาดต่างประเทศ
“ประเทศญี่ปุ่น ยังคงเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) ในการเล่าเรื่องและออกแบบสินค้า/บริการที่ดี สามารถผูกเรื่องราวระหว่างวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวกับสินค้า บริการ และร้านขายของฝากของที่ระลึกได้อย่างลงตัวและน่าสนใจ ร่วมถึงทัศนคติเชิงสร้างสรรค์อีกด้วย” นายกลินท์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง อาทิ จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่ใกล้เคียงอย่างจังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นจังหวัดเป้าหมายในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพราะใกล้กรุงเทพและยังเป็นจังหวัดที่โดดเด่นด้านแหล่งท่องเที่ยว มีพื้นที่สวนเกษตรท้องถิ่น ส่งผลให้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปด้วย อีกทั้ง ยังเป็นจังหวัดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ จึงเล็งเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่ควรได้รับการส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากการจัดกิจกรรมในจังหวัดสมุทรสงครามแล้ว ยังจะต่อยอดไปที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นเมืองแห่งศิลปะและเป็นเมืองชายแดนที่มีความคึกคักด้านการค้าขายข้ามพรมแดนช่วง ในเดือนมกราคม 2564 อีกด้วย
นายอัทสึชิ ทาเคทานิ (Mr. Atsushi Taketani) ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) กล่าวว่า เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา เจโทรได้เชิญวิทยากรจากญี่ปุ่นมาร่วมบรรยายถึงวิธีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้รับกระแสตอบรับอย่างดี
ทางหอการค้าไทย ขอให้จัดสัมมนาร่วมกันในลักษณะใกล้เคียงกับปีที่แล้วอีกครั้งในปีนี้ ดังนั้นเจโทร จึงได้เชิญวิทยากรจากบริษัท JTB (Thailand) Limited มาบรรยายให้ในปีนี้ โดยบรรยายเรื่องการสร้างแบรนด์ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกรณีศึกษาของเมืองชิเรโโทโกะ (Shiretoko) ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในจังหวัดฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น โดยกรณีศึกษาของเมืองชิเรโทโกะ (Shiretoko) ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 2548 และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำของจังหวัดฮอกไกโด โดยในปี 2558 กลุ่ม บริษัท JTB ได้ร่วมมือและริเริ่มโครงการผสานแบรนด์อิมเมจท้องถิ่นของเมืองชิเรโทโกะ ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และผลักดันการเผยแพร่ข้อมูลและประชาสัมพันธ์แบรนด์ชิเรโทโกะ สู่สาธารณชน ความพยายามครั้งนั้นได้รับความสนใจและจับตามองจากทั้งในและนอกประเทศญี่ปุ่นในมุมมองของการพัฒนาการท่องเที่ยวท้องถิ่น
“ประเทศไทย ซึ่งมีอัตลักษณ์ต่างกันไปตามภูมิภาคนั้น จะสามารถเรียนรู้วิธีการค้นหาอัตลักษณ์ของท้องถิ่นและทำการขัดเกลาและพัฒนาจนกลายเป็นทรัพยากรท่องเที่ยวของท้องถิ่นนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี เจโทรกรุงเทพฯ จะร่วมมือกับ 4 องค์กร เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ในหลายๆด้านอย่างกว้างขวาง” นายทาเคทานิ กล่าว
นายโนบูยูกิ อิชิอิ (Mr. Nobuyuki Ishii) กรรมการผู้จัดการ หอการค้าญี่ปุ่น -กรุงเทพฯ (Executive Management Director) กล่าวว่า ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่น่าสนใจอยู่มากมาย ซึ่งต้องการให้มีความร่วมมือในการยกระดับผลิตภัณฑ์เหล่านั้นให้มีความน่าสนใจ เนื่องจากสินค้าที่วางขายในพื้นที่ต่างจังหวัดมีศักยภาพ แต่ยังขาดการจัดการสินค้าหรือการจัดแสดงสินค้า ประเทศญี่ปุ่นมีสินค้าพื้นเมืองของจังหวัดฮอกไกโดที่ชื่อว่า “Jaga Pokkuru” ที่คนไทยจะซื้อเป็นของฝาก ซึ่งสินค้าดังกล่าวจะใช้หีบห่อที่มีลักษณะเด่นของท้องถิ่น ทำให้ผู้พบเห็นทราบได้ในทันทีว่าได้ไปยังสถานที่นั้น ๆ มา สิ่งนี้เองที่สร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และทำให้ผู้บริโภคเกิดความพึงพอใจ
ดังนั้น ด้วยความร่วมมือจากบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการบรรจุหีบห่อหรือการจัดแสดงสินค้าที่จะดึงความน่าสนใจของสินค้าต่าง ๆ เหล่านั้นออกมา
สำหรับกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของประเทศ ซึ่งมีบริษัทต้นแบบจากประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ 1.บริษัท สยามทบพันแพคเกจจิ้ง จำกัด 2. บริษัท อิออน (ไทยแลนด์) จำกัด และ3.บริษัท สยาม ทาคาชิมาย่า (ประเทศไทย) จำกัด มาให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการจัดแสดงสินค้าและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างความประทับใจและดึงดูดลูกค้า
นายวิทยากร มณีเนตร รองอธิบดี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงฯ มุ่งเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการในต่างจังหวัดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการผลักดันสินค้าและบริการของผู้ประกอบการท้องถิ่นไทย ให้สามารถขยายสู่ตลาดต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น นำมาสู่การสัมมนาในครั้งนี้ที่มุ่งเน้นตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ของไทย โดยในปี 2562 การส่งออกสินค้าไทยไปญี่ปุ่น มีมูลค่ากว่า 760,000 ล้านบาท และการส่งออกในเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน ปี 2563 มีมูลค่า 517,000 ล้านบาท
กระทรวงพาณิชย์เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” เพื่อผลักดันการส่งออกสินค้าไทย ซึ่งให้ความสำคัญในการศึกษาตลาด พฤติกรรม และรสนิยมของผู้บริโภคในต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้และพัฒนาสินค้าไทยให้ตรงตามความต้องการของผู้ซื้อ รวมถึงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ผู้ประกอบการไทยจึงต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์หรือความต้องการสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงกรมฯ ต้องปรับกลยุทธ์การทำงานใหม่เพื่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 แบ่งเป็น 4 ส่วนหลัก คือ
1.Offline จัดทาแคมเปญ “Trust Thailand” สร้างภาพลักษณ์สินค้าไทยและ ความเชื่อมั่นแก่ผู้ซื้อ รวมถึงการพัฒนาสินค้าและผู้ประกอบการไทย
2. Online การจัดกิจกรรม Online Business Matching และความร่วมมือกับ Platform Online ที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ
3. Hybrid การจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบ Virtual Trade Fair และ Mirror Mirror Mission โดยให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศทาหน้าที่เป็นเซลล์แมนประเทศ
4. การเจาะตลาดเมืองรอง อาทิ จังหวัดวากายามะ ในการพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูป และจังหวัดยามานาชิ ในการพัฒนาสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ
“หลายปีที่ผ่านมาจากความร่วมมือระหว่างกรมฯ เจโทร กรุงเทพฯ หอการค้าไทย และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ในการจัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ด้านการพัฒนาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และส่งเสริมการท่องเที่ยว” ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการเสมอมา จึงเกิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ขึ้นมา และได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นต้นแบบจากญี่ปุ่น เพื่อการพัฒนาสินค้าท้องถิ่นของไทย” นายวิทยากร กล่าว
อย่างไรก็ตาม การจัดสัมมนาในครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ พลิกวิกฤตเป็นโอกาสในช่วงโควิค ที่มุ่งเน้นการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทย เตรียมความพร้อมสู่ตลาดสากล จึงขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วม งานสัมมนาที่จะมีขึ้นในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ณ ห้องสัมมนาชั้น 1 Coco View Hotel จังหวัดสมุทรสงคราม ลงทะเบียนสัมมนาได้ที่ https://www.jetro.go.jp/form5/pub/bgk/seminar2020 และลงทะเบียน Workshop ได้ที่ https://www.jetro.go.jp/form5/pub/bgk/workshop2020 ภายในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563
——————————-