นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ พร้อมด้วย นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. ร่วม Click off จ่ายเงินโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง ระยะที่ 2 จ่ายงวดแรก กว่า 1,249 ลบ. โดยมีตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง เข้าร่วมงานกว่า 2,000 คน ณ อาคารอเนกประสงค์ ที่ว่าอำเภอท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการออกมาตรการที่มุ่งเป้าสร้างรายได้ และความมั่นคงให้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นมาตรการที่เห็นผลเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมาสถานการณ์ราคายางปรับตัวขึ้นและลงอย่างรวดเร็วเป็นผลจากหลายปัจจัย เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อุปทานยางของประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติมีมากกว่าความต้องการของตลาด ทำให้เกิดการแข่งขันสูง ปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตของประเทศไทย อีกทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID -19 หลายประเทศประกาศล็อกดาวน์ ส่งผลต่อการส่งออกยาง โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นประเทศผู้นำเข้ายางพารารายใหญ่ของไทย
รัฐบาลจึงไม่นิ่งนอนใจ สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ราคายางอย่างต่อเนื่อง และเตรียมพร้อมหามาตรการหรือแนวทางรองรับให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางเร่งด่วน จึงเกิดโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ขึ้น เม็ดเงินตรงนี้จะลงไปถึงพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 1.8 ล้านคน เป็นเงินส่วนต่างของรายได้ที่ควรได้รับ รวมงบประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท ที่จะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้สม่ำเสมออย่างทั่วถึง ทั้งเจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ และคนกรีดยาง นับเป็นมาตรการทางอ้อม ที่นำมาใช้แทนการแทรกแซงราคายาง เพื่อลดการบิดเบือนกลไกตลาดในอนาคต ภายใต้นโยบาย “ทำได้ไว และทำได้จริง”
นายจุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากมาตรการช่วยเหลือระยะเร่งด่วนแล้ว อนาคตต่อไปกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ จะต้องบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง โดยผลักดันการเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ การลดพื้นที่ปลูกยาง พร้อมเร่งกำหนดแผนขายตรงกับต่างประเทศ เพิ่มช่องทางหาตลาดใหม่ ครอบคลุมถึงระบบออนไลน์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างกว้างขวาง ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงหลักการใช้ระบบตลาดนำการผลิต ปลูกและกำหนดปริมาณการขายตามความต้องการตลาด เพิ่มและรักษาคุณภาพสินค้า โดยใช้ข้อได้เปรียบทางด้านธรรมชาติที่เอื้อต่อการผลิตยางพาราของไทย ยกระดับให้เป็นมาตรฐานสากล
“วันนี้เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางให้ดีขึ้น เชื่อว่าเมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง จะทำให้เราสามารถก้าวข้ามวิกฤตเศรษฐกิจไปได้ในเร็ววัน” รองนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำ
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท)กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 1.82 ล้านราย วงเงินงบประมาณกว่า 10,042 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID 19) อันส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศ รวมถึงเกษตรกรชาวสวนยางได้รับผลกระทบตามไปด้วย กยท. จึงเร่งหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง โดยดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 นำเรียนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเข้าช่วยเหลือเกษตรกรที่รายได้ผลผลิตจากยางพาราต่ำกว่ารายได้ที่ทางโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 กำหนดไว้ ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับการชดเชยส่วนต่างตามรูปแบบผลผลิตที่เกษตรกรขาย โดยกำหนดราคาประกันรายได้ 3 ชนิด ได้แก่ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม โดยเงินประกันรายได้ในแต่ละเดือน จะถูกแบ่งระหว่างเกษตรกรเจ้าของสวนยางและคนกรีดยางในสัดส่วน 60:40 (ตามสัดส่วนการจ้างส่วนใหญ่ของข้อมูลขึ้นทะเบียน) ทั้งนี้ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ
ผู้ว่าการ กยท. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 มีระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 6 เดือน คือ ตั้งแต่ตุลาคม 2563 ถึงมีนาคม 2564 โดยจ่ายเงินงวดแรกประจำเดือนตุลาคม 2563 ให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ จำนวน 968,468 ราย คิดเป็นพื้นที่ 10,154,813.613 ไร่ จำนวนเงิน 1,249.672 ล้านบาท ซึ่ง ธ.ก.ส. จะโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ของเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. เดือนละ 1 ครั้ง กำหนดราคาอ้างอิงประกาศย้อนหลัง 30 วัน พิจารณาจากราคาตลาดกลางยางพารา SICOM TOCOM เซี่ยงไฮ้ และปัจจัยอื่นๆ เพื่อให้การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างสอดคล้องกับสถานการณ์ราคาที่เป็นปัจจุบันที่สุด เพื่อประโยชน์ของชาวสวนยางอย่างเต็มที่
ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทยจัดงาน kick off ขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ความเข้าใจโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ในพื้นที่จังหวัดพังงา เพื่อให้เกษตรกร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป ได้รับทราบข้อมูลอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ซึ่งวันนี้ เป็นวันแรกของการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ จึงมั่นใจได้ว่าโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวสวนยางได้ตามหลักการตามที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน
—————————————————