พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มอบกองอำนวยการน้ำแห่งชาติวางแผนป้องกันอุทกภัยเทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค.64 บูรณาการหน่วยงานป้องน้ำท่วมซ้ำรอยปี 63 พร้อมเตรียมซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ 31 ส.ค.นี้
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)มอบหมายให้ กอนช. วางแผนเชิงรุกป้องกันความเสี่ยงในการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในช่วงฤดูฝนภาคใต้ที่กำลังจะมาถึง โดยวันนี้ (11 สิงหาคม 2564) นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 4 ผู้แทน กอนช. และเจ้าหน้าที่ สทนช. ภาค 4 ร่วมประชุมหารือกับนายทรงชัย วงษ์วัชรดำรง นายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ทั้งนี้ เพื่อบูรณาการและประสานการแก้ไขปัญหาอุทกภัยเมืองทุ่งสง ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญและเป็นจุดศูนย์กลางของการขนส่งในพื้นที่ภาคใต้ โดยได้ศึกษา แนวทางและเร่งรัดการวางแผนตัดยอดปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่เทศบาลเมืองทุ่งสงให้อยู่ในเกณฑ์ที่คลองธรรมชาติและระบบระบายที่สร้างขึ้นรองรับได้ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย ซึ่ง สทนช.จะได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทางหลวง การรถไฟแห่งประเทศไทย และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำในการวางแผนงานเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนและจะเสนอแผนดังกล่าวให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 กอนช.คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณฝนตกชุกหนาแน่นในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงและเป็นพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำลงสู่ทะเลได้น้อย เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 (มติ ครม.18 พ.ค. 64) เทศบาลเมืองทุ่งสงจะได้มีการเตรียมความพร้อมและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ในวันที่ 31 สิงหาคมนี้
นอกจากนี้ยังให้เร่งขุดลอกทางระบายน้ำต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในเขตเทศบาลเมืองทุ่งสงให้ออกสู่แม่น้ำตรังต่อไป อีกทั้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมกันติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดเพื่อเตรียมความพร้อมในการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าในช่วงเวลาที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยในพื้นที่และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน
————————————————-