เกษตรกรไทยมีหนี้สินรวมกันมูลค่ากว่า 1.32 ล้านล้านบาท โดนแต่ละครัวเรือนมีหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละ 225,000 บาทในปี 2563 ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ประเมินว่า วิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเป็นโดมิโนต่อภาคเกษตรกรรมนั้น จะทำให้เกษตรกรอยู่ในภาวะ ‘หนี้ท่วม’ เฉลี่ยที่ครัวเรือนละ 260,000 บาท เพิ่มขึ้นราว 16 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
dtacblog ชวนมารู้จักกับเกษตรกรหญิงรายหนึ่งภายใต้โครงการดีแทค เน็ตทำกิน ผู้ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นหนี้แล้ว ยังมีโบนัสราย 3 เดือนและราย 6 เดือนให้ตัวเองอีกด้วย เรียกได้ว่ามีเงินเหลือกินเหลือใช้ แถมยังแบ่งปันความรู้ให้กับเกษตรกรรายอื่นได้อีก จนเป็นที่มาของชื่อกิจการทางการเกษตรของเธอ นั่นคือ ‘บ้านนี้มีรัก ฟาร์มสุขสำราญ’ ตั้งอยู่ ณ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา
สูตรสำเร็จ
ฟงหวิล – เทวารักษ์ นิ่มเจริญ เจ้าของฟาร์มวัย 40 ปี เล่าว่า เดิมทีเธอมีอาชีพเป็นพนักงานออฟฟิศเหมือนคนทั่วไป รับผิดชอบจัดการปั๊มน้ำมัน แต่เมื่อคุณพ่อซึ่งเป็นเจ้าของฟาร์มนี้ล้มป่วยลง เธอตอนนั้นในวัย 25 ปี จึงต้องกลับมาสืบทอดกิจการทำการเกษตรแบบความรู้เริ่มจากศูนย์
ในช่วง 5 ปีแรกของการสืบทอดกิจการ ตอนนั้นคุณพ่อยังทำหน้าที่เหมือนโค้ช แต่แม้จะมีการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น แต่ด้วยยุคสมัยและปัจจัยที่เปลี่ยนไป ทำให้เธอต้องพัฒนาองค์ความรู้อยู่ตลอดเวลา และเมื่อมีการเปลี่ยนมืออย่างฉับพลัน จากสาวพนักงานออฟฟิศต้องออกสนามรบจริง เธอตระหนักว่าเกษตรกรเผชิญกับปัญหาอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะความไม่แน่นอนจากสภาพอากาศและกลไกทางการเกษตร แต่เราก็ไม่ยอมแพ้ พยายามปรับเปลี่ยนใช้กลวิธีและแนวคิดใหม่ๆ ตลอดเวลา ซึ่งบางครั้งประสบความสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้างเป็นธรรมดา จึงเรียกได้ว่า 5 ปีแรกของเธอที่บ้านนี้มีรัก ฟาร์มสุขสำราญเป็นเพียงแค่ช่วง “เปลี่ยนผ่าน”
หลังจากที่คุณพ่อของเทวารักษ์เสียชีวิตลงช่วงนั้นจึงเรียกได้ว่าเป็นช่วง “ลงสนามจริง” เธอกลายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก นำความรู้ด้านบริหารธุรกิจที่ร่ำเรียนมาปรับใช้ สู้กับกลไกตลาดและระบบเกษตรดั้งเดิมที่ทำให้เกษตรกรจมปลักอยู่ในวงเวียนหนี้
ที่บ้านหนี้มีรัก ฟาร์มสุขสำราญมีพื้นที่ทางการเกษตรรวม 120 ไร่ เธอจึงวางแผนปลูกพืชโดยนำกำไรเป็นที่ตั้ง โดยใช้วิธีการปลูกพืชหมุนเวียนตามเกษตรทฤษฎีใหม่ให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายและรายรับ โดยเธอจะเลี้ยงเป็ด-ไก่ กล้วย และพืชผักสวนครัว เพื่อลดค่าใช่จ่ายด้านอาหารและเป็นเงินค่าขนมสำหรับลูกรายสัปดาห์ ส่วนผลไม้อย่างแตงโม เมล่อน และมะพร้าวถือเป็นเงินเดือน ส่วนรายได้จากการทำฟาร์มกุ้งและปลาจะถือว่าเป็นโบนัสราย 3 เดือนและ 6 เดือน ตามลำดับ
“เกษตรกรเป็นอาชีพที่ไม่มีเงินเดือน เขารู้เพียงว่าต้องลงทุน แต่ไม่รู้กำไร ขาดการวางแผนรายได้ ยิ่งเผชิญกับความไม่แน่นอนจากโครงสร้างแบบดั้งเดิม กลไกทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตร พอน้ำท่วมน้ำแล้ง ขาดทุน ก็ต้องไปกู้มา ทำให้ตกอยู่ในวงเวียนของหนี้อย่างไม่รู้จบสิ้น” เทวารักษ์อธิบาย
ความเสี่ยงของเกษตรกร
เธอเน้นย้ำว่า การทำเกษตรมีความเสี่ยงเสมอ อย่างปีนี้ที่เผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ร้านอาหารปิด ตลาดปิด ทำให้ฟาร์มกุ้งไม่ได้กำไรแล้ว ราคาขายเดิมราว 200 บาทต่อกิโลกรัม เหลือเพียง 140 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเรียกว่าอยู่ในจุดคุ้มทุน แต่กว่าจะผ่านไปได้นั้นก็เรียกได้ว่า “เลือดตาแทบกระเด็น” เมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ฟาร์มกุ้งมีผลผลิตทั้งสิ้นราว 10 ตัน โชคดีที่สามารถระบายผ่านเครือข่ายเกษตรกร Young Smart Farmer และขายปลีกผ่านช่องทางออนไลน์ได้
และนี่จึงทำให้เธอตระหนักถึงความสำคัญของช่องทางออนไลน์ที่เธอลงเสาเข็มตั้งแต่ปี 2560 โดยมีโอกาสไปอบรมการตลาดออนไลน์ในโครงการ Young Smart Farmer โดยความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตรและดีแทค ซึ่งตอนนั้น เธอยังไม่เชื่อว่าออนไลน์จะสามารถสร้างรายได้อย่างแท้จริง
ในปี 2562 เธอเริ่มทำการตลาดออนไลน์อย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งเป็นปีแรกที่ขายมะม่วงผ่านช่องทางออนไลน์ โดยผลปรากฏว่า ครึ่งหนึ่งของยอดขายนั้นมาจากช่องทางออนไลน์ นอกจากนี้ เธอยังได้มีโอกาสเข้าร่วมกับกลุ่มมะม่วงแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มชาวสวนมะม่วงของอำเภอบางคล้าเพื่อเพิ่มอำนาจในการขายและต่อรองราคา โดยเมื่อต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิดและมาตรการล็อกดาวน์ ตลาดปิด พ่อค้าคนกลางไม่ซื้อ ทำให้ต้องเร่งระบายผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งสามารถระบายผลผลิตรวมออกสู่ตลาดได้ถึง 12 ตัน
“โชคดีที่ได้ทีมดีแทค เน็ตทำกินเข้ามาเป็นคนให้ความรู้ อบรมการทำตลาดออนไลน์ เล่าเรื่องอย่างไรให้น่าสนใจ โครงสร้างราคา ซึ่งที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าโลกออนไลน์คือโอกาส ทั้งในการค้าปลีกและค้าส่ง ตัดกระบวนการพ่อค้าคนกลาง แถมสร้างมูลค่าเพิ่มจากเรื่องราวของผลิตภัณฑ์และแบรนด์ได้อีกด้วย” เทวารักษ์กล่าว
ดูเหมือนว่านี่จะเป็นทิศทางในอีก 5 ปีข้างหน้าของกิจการที่เธอรับผิดชอบ ฟาร์มแห่งนี้จะมุ่งเน้นการทำตลาดออนไลน์มากขึ้น เปิดให้ลูกหลานได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนา และพิสูจน์ว่าการเป็นเกษตรกรก็มีความสุขได้ รวยได้ และที่สำคัญคือต้องแบ่งปันช่วยเหลือผู้อื่น โดยฟาร์มแห่งนี้ได้รับการพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้การเกษตร cละนี่เองคือนิยามที่แท้จริงของ ‘บ้านนี้มีรัก ฟาร์มสุขสำราญ’
————————————————————————————-