เวทีวิชาการโครงการวิจัยเรื่อง ชุดแผนงานครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง ครั้งที่ 2

1 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กล่าวว่า ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)  ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินการสำรวจสถานการณ์ ด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว จำนวน 1,760 ครอบครัว ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอุดรธานี  และจังหวัด  สุราษฎร์ธานี โดยได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธย, วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี และสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นภาคีเครือข่าย ในการสำรวจสถานการณ์ ด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว โดยผลการสำรวจข้อมูลสถานการณ์ โครงการวิจัยเรื่อง ชุดแผนงานครอบครัวไทยไร้ความรุนแรงผ่านแบบประเมินต่างๆ และได้ผลการสำรวจที่น่าสนใจดังนี้ 

  1. แบบสำรวจต้นทุนชีวิต (Life Assets)  

พัฒนาโดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี และคณะแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า  ทั้ง 5 พลังต้นทุนชีวิต อยู่ในระดับปานกลาง, ส่วนในเด็ก ป.4-ป.6 พบว่า ทั้ง 5 พลังต้นทุนชีวิต อยู่ในระดับดีมาก ต้นทุนชีวิตฉบับเยาวชน พบว่า พลังตัวตน 71.77% และพลังครอบครัว 74.98% อยู่ในระดับดี พบพลังสร้างปัญญา 66.70% และพลังเพื่อนและกิจกรรม 63.01% อยู่ในระดับปานกลาง และที่น่าเป็นห่วงพบพลังชุมชน 55.98% อยู่ในระดับค่อนข้างน้อย จากการวิเคราะห์ภาพรวม จะพบว่าพลังเพื่อนและกิจกรรม และพลังชุมชน เป็นพลังที่ควรเพิ่มหรือเสริมสร้างต้นทุนชีวิตให้มากขึ้นผ่านกิจกรรมหรือโครงการ

  • แบบประเมินการเลี้ยงดูเชิงบวก (Positive Parenting Scale: POPS)

พัฒนาโดย  รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล และคณะ เด็กส่วนใหญ่ 50.4% ประเมินว่า ผู้ปกครองของตนเอง มีทักษะการเลี้ยงดูเชิงบวก อยู่ในระดับมาก และผู้ปกครอง 49.3% ประเมินว่า ตนเองมีทักษะการเลี้ยงดูเชิงบวก อยู่ในระดับมาก และยังพบอีกว่า ผู้เลี้ยงดูหลักที่แตกต่างกัน ทำให้ทักษะการเลี้ยงดูเชิงบวกแตกต่างกันด้วย โดยถ้าทั้งพ่อและแม่ เป็นผู้เลี้ยงดูหลัก  คะแนนของทักษะการเลี้ยงดูเชิงบวกจะสูงกว่า ญาติเลี้ยงดูเป็นหลัก และ พ่อหรือแม่เพียงคนเดียวเลี้ยงดูเป็นหลัก

  • แบบประเมินการสร้างวินัยเชิงลบ (Negative Discipline)

พัฒนาโดย ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ในการสร้างวินัยเชิงลบ โดยรวม  พบว่าผู้ปกครอง 77.73%  มีระดับการสร้างวินัยเชิงลบ 1-2 วันต่ออาทิตย์

  • หากแยกเป็นรายด้าน พบว่า ผู้ปกครอง 52.10% ไม่เคยมีการลงโทษทางกายเลย
  • และพบว่าผู้ปกครอง 61.76% มีการทำร้ายจิตใจ 1-2 วันต่ออาทิตย์

    มี 48.64% มีการลงโทษทางวาจา 1-2 วันต่ออาทิตย์ 

  • ข้อมูลด้านการใช้โซเชียลมีเดียและการเล่นเกมของเด็ก

ข้อมูลการเล่นโซเชียลมีเดียของเด็ก 

  • พบว่า เด็กเล่นโซเซียลมีเดีย ถึง 89.8%  และไม่เล่นโซเซียลมีเดีย เพียง 10.2% 
  • โซเซียลมีเดียที่เด็กเล่นมากทึ่สุดเป็นอันดับที่ 1 คือ Youtube 67.4% รองลงมาคือ Facebook 62.5%

      และ Tiktok 53.2% ส่วน Line 45.1% Instagram 31.9% และTwitter 12.6%

  • ระยะเวลาการเล่นโซเซียมีเดีย ในวันจันทร์-ศุกร์ เฉลี่ย 4.02 ชั่วโมง/วัน และ เสาร์-อาทิตย์ 4.38 ชั่วโมง/วัน 

ข้อมูลการเล่นเกมของเด็ก 

  • พบว่า เด็กส่วนใหญ่เล่นเกม 64.9% และไม่เล่นเกม 35.1% 
  • ระยะเวลาการเล่นเกม ในช่วงวันจันทร์ถึงศุกร์ เฉลี่ย 3.33 ชั่วโมง/วัน และในวันเสาร์ อาทิตย์ เฉลี่ย 3.82 ชั่วโมง/วัน
  • แบบวัดโรคติดเกมอินเทอร์เน็ต – ฉบับย่อ Internet Gaming Disorder Scale–Short-Form

แปลโดย รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล ในฉบับเด็กตอบ มีเด็ก 15 คน หรือคิดเป็น 0.9% ที่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยโรคติดเกมอินเทอร์เน็ต ส่วนในฉบับผู้ปกครองตอบ มีเด็ก 18 คน หรือคิดเป็น 1% ที่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยโรคติดเกมอินเทอร์เน็ต และพบอีกว่าเมื่อเปรียบเทียบคะแนนระหว่างเด็กที่เล่นเกม และเด็กที่ไม่เล่นเกมเด็กที่เล่นเกมจะมีค่าคะแนนของ แบบวัดโรคติดเกมอินเทอร์เน็ตสูงกว่าเด็กที่ไม่เล่นเกม

รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี  ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ในฐานะที่เป็นหัวหน้าชุดแผนงานโครงการครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก วัยรุ่น และครอบครัว กล่าวเพิ่มเติมในช่วงถอดรหัสครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง ว่าณ ปัจจุบัน สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวของประเทศไทย ทุกวันในสื่อต่างๆ เราได้ยินปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นมาก โดยเฉลี่ยประมาณ 4 รายต่อวัน  ความรู้สึกมันชวนให้หดหู่ในทุกๆ วันที่มีแต่การใช้ความรุนแรง การสื่อสารพลังลบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากผลสำรวจต้นทุนชีวิต 4 พลังภายนอก คือ บ้าน ชุมชน โรงเรียน และเพื่อน ต่ำลงทุกปี โดยเฉพาะพลังชุมชน สัญญาณพวกนี้มันสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ว่า เรามีความรุนแรงเกิดขึ้นในครอบครัว อัตราการหย่าร้าง การทำหน้าที่ของครอบครัว รวมไปจนถึงเสียงของเด็ก พลังตัวตนที่สะท้อนพลังบวกที่อ่อนแอลงเรื่อยๆ นี่คือเหตุผลที่เราถึงได้ทำชุดแผนงานครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง ที่ทุกภาคส่วนต้องผนึกกำลัง ร่วมกันสร้างครอบครัวพลังบวกให้เกิดขึ้นมากในสังคมไทย

ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร  อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าเสริมว่า โครงการย่อยที่ 1 ครอบครัวพลังบวก มีการจัดทำหลักสูตรค่ายครอบครัวพลังบวก   ที่เกี่ยวกับการสร้างวินัยเชิงบวก และทักษะสมอง EF หลักสูตรนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมครอบครัวไทยให้ไร้ความรุนแรง ซึ่งเนื้อหาเป้าหมายสูงสุด เราต้องการที่จะเปลี่ยนจากผู้ปกครอง เป็นผู้ประคอง คือเพื่อที่จะให้คุณพ่อคุณแม่ ได้กลายเป็นผู้ประคอง ประคองใจ ประคองอารมณ์ตัวเอง เป็นฐานที่มั่นทางใจเพื่อให้ตัวเองและลูกและครอบครัว ก้าวข้ามความขัดแย้งภายในตัวเอง ในจิตใจของตัวเอง รวมถึงความขัดแย้งภายนอกด้วย ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่อยู่ตรงกันข้ามกับความรุนแรงในครอบครัว เมื่อคุณพ่อคุณแม่สามารถเป็นผู้ประคองได้แล้ว ความรุนแรงในครอบครัวก็จะน้อยลง เรื่องของทักษะการเลี้ยงลูกเชิงบวก ปลอบก่อน สอนทีหลัง หลายๆครั้งความเคยชินของคุณพ่อคุณแม่ เมื่อเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น เรามักจะรีบเข้าไปตัดสิน ตีตราลูก รีบเดินเข้าไปสั่ง ทุกครั้งเมื่อมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่จำเป็นจะต้องปลอบ ให้อารมณ์ลูกให้เขาสงบก่อน แล้วก็สอนเค้าทีหลัง เพื่อที่จะสามารถใช้เหตุและผลในการพูดคุย และเกิดความเปลี่ยนแปลงได้

รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อีกหนึ่งผู้รับผิดชอบโครงการย่อยที่ 2 Healthy Gamer เป็นโครงการที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม โดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน กล่าวว่า  โครงการจะเป็นส่วนหนึ่งในการการป้องกันครอบครัวไทยให้ไร้ความรุนแรงได้ จากผลสำรวจ เราพบว่า ปัญหาเด็กติดเกม เป็นปัญหาอยู่ในอันดับต้นๆ  การที่พ่อแม่เห็นลูกตัวเอง กำลังง่วนอยู่กับมือถือ อยู่กับโซเชียลมีเดีย กำลังเล่นเกมอยู่  สิ่งแรกที่เกิดขึ้นที่พ่อแม่มาสารภาพคือ ปรี๊ดแตก แล้วก็จะตามมาด้วยคำบ่นด่า ตามมาด้วยการทะเลาะกัน หรือหลายครอบครัวก็จะมีเรื่องของการใช้กำลัง แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของความรุนแรงด้านวาจาและก่อความรุนแรงด้านอารมณ์  ซึ่งจะเห็นเลยว่ามันเชื่อมโยงระหว่างการเล่นเกมกับความรุนแรงในครอบครัว และลักษณะของเกมทุกวันนี้ที่เด็กเล่น มันเป็นเกมที่ส่งเสริมความรุนแรง เป็นเกมที่ยิงกัน ฆ่ากัน วางระเบิด และพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่างๆ ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาที่สำคัญคือ การเลี้ยงลูกเชิงบวก สำคัญมาก ทำยังไงให้พ่อแม่ไม่ของขึ้น ไม่ปริ๊ดแตก เวลาที่เห็นภาพลูกใช้มือถือไม่เหมาะสม กำลังใช้เวลาแต่กับการเล่นเกม พ่อแม่ต้องมีสติ แล้วสามารถที่จะใช้การสื่อสารเชิงบวก ที่ทำให้ลงเอยบทสนทนาด้วยดี ไม่ทะเลาะกัน แต่ลงเอยด้วยความเข้าใจกัน แล้วลงเอยที่มีกติการ่วมกัน

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลเเขวง  ผู้รับผิดชอบในโครงการย่อยที่ 3 Family against Violence in Dysfunctional Family ซึ่งเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองการกระทำความรุนแรงในครอบครัว และการสร้างพี่เลี้ยงชุมชน กล่าวเสริมว่า สำนักงานคดีอัยการศาลแขวง ซึ่งดูแลพื้นที่กรุงเทพมหานครและฝั่งธนทั้งหมด สามเดือนที่ผ่านมา สถิติที่รายงานเข้ามาไม่มีข้อมูลคดีความรุนแรงในครอบครัว แต่ในความเป็นจริงแล้วมีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เรื่องดังกล่าวไม่ถึงเจ้าหน้าที่ เรื่องไม่เข้าสู่การแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นเราคงต้องกลับมาดูว่าจะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งจากผลข้อมูล เรามองว่า พี่เลี้ยงชุมชนจะเป็นคนที่สร้างทักษะ และพี่เลี้ยงชุมชนอาจจะกลายเป็นพี่เลี้ยงสังคมในวันข้างหน้าต่อไป เพราะมันจะเริ่มตั้งแต่หน่วยงานในบ้าน ในชุมชน ในหมู่บ้าน ให้มาคุยกันให้เกิดครอบครัวพลังบวก  ถ้าพี่เลี้ยงชุมชนที่อยู่ในชุมชนแล้วมีพลัง ก็พร้อมที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ผศ.ดร.ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์  อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา มจร. เสริมในโครงการเดียวกันว่า ในการสร้างพี่เลี้ยงชุมชน หลากหลายชุมชนที่ลงไปทำ จะเห็นได้ชัดเลยว่า ชาวบ้าน ชุมชนไม่รู้ว่าจะมีวิธีการอย่างไรในการรับมือกับความรุนแรงในครอบครัว ไม่รู้ถึงว่ามีหน่วยงานไหนที่จะให้ความช่วยเหลือได้  องค์ความรู้ที่เราพบก็คือว่า วิธีการที่จะนำความรู้ความเข้าใจไปสู่ชุมชนที่มีความหลากหลายทางด้านความคิด ความสามารถ    สิ่งที่สำคัญคือ ต้องสร้างให้เกิดการระเบิดจากข้างใน ให้เขาได้รับรู้และตระหนักถึงการเป็นพี่เลี้ยงชุมชม ที่เข้าใจว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ไม่ใช่เรื่องภายในครอบครัว

โครงการครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง  มุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน  จึงพัฒนาระบบ    พี่เลี้ยงในชุมชน ที่มีทั้งกระบวนการพัฒนาคน พัฒนากลไก และพัฒนากิจกรรมเพื่อการพัฒนา   โดยการเชื่อมโยง และสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง  ทั้งภาครัฐ เอกชน หรือตัวแทนชุมชนเอง ซึ่งจะสร้างให้เกิดการเรียนรู้  และการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม สามารถติดตามโครงการได้ที่เวปไซด์ศูนย์คุณธรรม www.moralcenter.or.th โครงการวิจัยเรื่อง ชุดแผนงานครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *