“ศักดิ์สยาม”เร่งเครื่องกทท.เดินหน้าโครงการหนุนไทยเป็นศูนย์การขนส่งติดอันดับโลก

รวค. ศักดิ์สยาม มอบนโยบายพร้อมตรวจเยี่ยม กทท. เร่งรัดโครงการสำคัญ เน้นปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายและหลักธรรมาภิบาล

การท่าเรือกรุงเทพ  วันนี้ (3 มีนาคม 2565) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รวค.) พร้อมด้วย นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (รชค.) นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และคณะ เดินทางมามอบนโยบายและรับฟังความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาที่สำคัญของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) โดยมี พลเรือเอก โสภณ วัฒนมงคล ประธานกรรมการ กทท. คณะกรรมการ กทท. นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. และผู้บริหาร กทท. ให้การต้อนรับ ณ อาคารสโมสรการท่าเรือฯ และในโอกาสเดียวกันนี้ได้ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานภายในเขตรั้วศุลกากร ท่าเรือกรุงเทพ

          ในการนี้ ผู้อำนวยการ กทท. ได้สรุปแผนงานโครงการสำคัญในการขับเคลื่อน กทท. “มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก พร้อมการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2573” อาทิ การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของท่าเรือ การพัฒนาธุรกิจและสินทรัพย์ การบริหารจัดการทางการเงิน การพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงาน การให้บริการ เรือ สินค้า และตู้สินค้าในไตรมาสแรกของท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง คิดเป็นรายได้สุทธิ 3,857 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.75% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า รวมทั้งรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินโครงการพัฒนาที่สำคัญ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operation) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง การพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โครงการพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการของท่าเรือระนอง โครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) โครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษ สายบางนา-อาจณรงค์ (S1) โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) การพัฒนาการเชื่อมโยง Data Logistic Chain ด้วยระบบ Port Community System การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ และการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม

          โอกาสนี้ รวค. ได้กล่าวขอบคุณบุคลากรทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันปฏิบัติงานตามนโยบายขององค์กรมาตลอดระยะเวลา 70 ปี อีกทั้งสามารถร่วมมือร่วมใจสร้างผลประกอบการได้อย่างน่าชื่นชมท่ามกลางสถานการณ์โควิด 19 ทั้งนี้ ต้องการให้ กทท. สร้างศักยภาพด้านการขนส่งทางน้ำอย่างเต็มที่ตามหลักยุทธศาสตร์ชาติโดยการเชื่อมโยงด้านคมนาคมทั้ง 4 มิติ ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง ภายใต้กรอบกฎหมาย หลักธรรมาภิบาล เน้นการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนและส่วนงานที่เกี่ยวข้อง โดยทุกโครงการต้องมีตัวชี้วัดความสำเร็จ ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายในการปฏิบัติงาน ดังนี้

          1. เร่งรัดโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ ๓ โดยให้นำระบบท่าเรืออัตโนมัติ (Port Automation) มาใช้ในการปฏิบัติงานและการให้บริการ และเน้นย้ำให้บริหารจัดการพื้นที่แล้วทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมอำนวยความสะดวกเพิ่มศักยภาพในด้าน Shift mode และจัดทำ Action Plan ให้ชัดเจนและรัดกุม

          2. จัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ในลักษณะภายในและต่างประเทศ เพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางน้ำและเสริมศักยภาพการแข่งขันให้กับกองเรือไทย

          3. กระตุ้นการเบิกจ่ายเงินงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้ไม่น้อยกว่า 95% โดยต้องอยู่ในกรอบกฎหมายและเป็นไปตามกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติตามมติ ครม.

          4. สนับสนุนการขนส่งสินค้าทางชายฝั่ง เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศ พร้อมส่งเสริมให้มีนโยบายปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากระบบถนนมาสู่ระบบราง

          5. เร่งรัดโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคต่างๆ เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค โดยเน้นย้ำให้สร้างความเข้าใจในภาคประชาชนและภาคเอกชน

          6. พัฒนาโครงการ Landbridge เชื่อมโยงการขนส่งอย่างไร้รอยต่อระหว่างอ่าวไทยและทะเลอันดามันตามโครงการพัฒนา SEC โดยให้บูรณาการร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมเจ้าท่า กรมทางหลวง กรมการขนส่งทางบก และการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบ การลงทุน และBusiness Model

          นอกจากนี้ได้กำชับให้ กทท. บริหารจัดการและแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านการขาดแคลนตู้สินค้าอย่างเร่งด่วน เชื่อว่าหากมีการประสานงานและวางแผนระบบอุปสงค์อุปทานที่ดีจะช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้ ในช่วงท้ายได้ฝากการกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ให้ได้ตามหลักมาตรฐานของสาธารณสุข และให้พนักงานการท่าเรือฯ ดูแลสุขภาพของตนเองและปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด 19 นอกจากนี้ รชค. ได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในด้านการบริหารจัดการท่าเรือภูมิภาค ส่วนตัวเชื่อว่ามีโอกาสทางธุรกิจเชิงพาณิชย์และมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ โดยต้องบูรณาการร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเร่งรัดโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) และให้ส่งเสริมสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางจากท่าเรือแหลมฉบังเข้าสู่ในเมืองเพื่อลดปัญหาจราจรและลดต้นทุนการขนส่งสินค้า

                                      —————————————–

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *