สงครามพ่นพิษสินค้าเกษตรเจ็บหนัก โดนคุมราคาทั้งห่วงโซ่การผลิตหน้าที่ภาครัฐ “อย่าซื้อเวลา” ปล่อยสินค้าปรับราคาตามกลไกตลาด

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารทั่วโลก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO) ยังมองว่าความรุนแรงระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยท้าทายความมั่นคงทางอาหารของโลก เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศ เป็นผู้ผลิตอาหารสำคัญของโลกโดยเฉพาะธัญพืช รัสเซียเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดในโลกและยูเครนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังเป็นผู้ส่งออกข้าวบาร์เล่ย์และข้าวโพดรายใหญ่ของโลกด้วย หรือมากกว่า 1ใน 3 ของการส่งออกธัญพืชโลกมาจากสองประเทศนี้ ตลอดจนสงครามยังมีผลให้ราคาต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกระทบต่อระบบการขนส่งทั่วโลก

FAO ยังชี้ด้วยว่าการส่งออกธัญพืชของรัสเซียและยูเครนจะมีผลกระทบมีนัยสําคัญต่อความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจาก 50 ประเทศ ยังต้องพึ่งพาการส่งออกข้าวสาลีของทั้งสองประเทศซึ่งมากกว่า 30% ทั้งประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ประเทศ่กำลังพัฒนาในทวีปต่างๆ รวมทั้งไทย ซึ่งขณะนี้ภาคปศุสัตว์ได้รับผลพวงอย่างหนัก เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ราคาข้าวสาลีปรับขึ้นแล้วมากกว่า 31% (เฉพาะช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนรัสเซียบุกยูเครน ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นไป 55%)

ประเทศไทย ในฐานะหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกอาหารชั้นนำเพื่อเลี้ยงประชากรโลก ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งของทั้งสองประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งห่วงโซ่อุตสาหกรรมภาคปศุสัตว์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ คือ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ โรงงานอาหารแปรรูป และผู้บริโภค ล้วนได้รับผลกระทบในครั้งนี้ ตามลำดับ

ระบบกลไกตลาดที่ทำงานสมบูรณ์ ในสถานการณ์ที่ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องแบกรับภาระต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นมากกว่า 30% ย่อมส่งผลแบบโดมิโน (Domino Effect) ต่อราคาอาหารสัตว์ไปยังผู้เลี้ยงสัตว์และโรงงานแปรรูปอาหาร ท้ายสุดผู้บริโภคก็ต้องร่วมรับผิดชอบต่อห่วงโซ่การผลิตอาหารด้วยการยอมซื้อของในราคาที่ปรับขึ้นตามเหตุผล แต่กาลกลับตาลปัตร เพราะคนกลางที่กำกับดูแลราคาสินค้าของไทยคือ กระทรวงพาณิชย์ เลือกข้างปกป้องผู้บริโภคจากการใช้มาตรการควบคุมราคา ทำให้ห่วงโซ่การผลิตอาหารสะดุดเพราะราคาสินค้าที่ผลิตได้ไม่สามารถปรับราคาได้อย่างเหมาะสมเกิดเป็นคอขวด เป็นความเสี่ยงต่อการขาดทุนของผู้ผลิต

สถานการณ์ภาคปศุสัตว์ไทยตอนนี้เรียกว่าอยู่ในช่วง “หายใจระรวย” ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพราะกลไกตลาดไม่ได้ทำงานนอนรอสัญญาณชีพจากกระทรวงพาณิชย์ ด้านผู้ผลิตใครสายป่านยาวหรือเครดิตดี ก็ยังพอกระเสือกกระสนหาเงินทุนมายื้อชีวิตได้ แต่รายย่อยและรายเล็ก ภาษาทางการแพทย์คือ “โอกาสรอดน้อย ให้ญาติทำใจ” เพราะต้นทางราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวมาแรง แต่อาหารสัตว์ปรับราคาไม่ได้เพราะโดนควบคุม ส่วนผู้เลี้ยงสัตว์ขายผลผลิตราคาไม่คุ้มทุนเพราะโดนควบคุมราคาหน้าฟาร์มไว้ทั้ง หมู ไก่ และไข่ แม้จะเป็นโปรตีนชั้นดีและราคาถูกที่สุดก็ไม่รอดเงื้อมมือ เนื้อสัตว์จากโรงงานแปรรูปก็โดนคุมราคาปรับไม่ได้เช่นกัน โดนกันทั้งห่วงโซ่ เพื่อให้ผู้บริโภคแบกภาระน้อยที่สุด

ในระบบกลไกตลาด คือ สินค้าที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยการผลิตปรับราคาสูงขึ้นมาก (Cost Push) ภาครัฐจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องการปรับราคาให้เหมาะสมเพื่อรักษาเสถียรภาพการผลิตให้เดินหน้าต่อไป และสมดุลซัพพลายอาหารอย่างเพียงพอ การผลิตไม่หยุดชะงักจากผู้ผลิตขาดความมั่นใจและมีความเสี่ยงด้านราคาสินค้า เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน

ผลของมาตรการควบคุมราคาสินค้าของภาครัฐ ล่าสุด นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ออกมาเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ ขอปรับราคาไข่ไก่อีกครั้ง หลังต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นทั้งราคาอาหารสัตว์ ยาสัตว์ และค่าจัดการต่างๆ โดยเฉพาะอาหารสัตว์ที่ยังไม่มีแนวโน้มลดลง ขณะที่คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ประเมินต้นทุนการผลิตไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ฟองละ 2.87 บาท ส่วนสำนักการเศรษฐกิจการเกษตร ประเมินต้นทุนระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2565 อยู่ที่ 2.94 บาท/ฟอง ขณะที่ราคาหน้าฟาร์มสมาคมฯ ให้ความร่วมมือคุมราคาไข่คละหน้าฟาร์มที่ 3.10 บาท/ฟอง และจะตรึงราคาจนไม่สามารถทำได้ แต่หากไม่มีการปรับราคา ผู้เลี้ยงจะอยู่ไม่ได้ ต้องเลิกเลี้ยง

สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เป็นอีกหนึ่งผู้ผลิตที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลอนุมัติการปรับราคาอาหารสัตว์ ก่อนโรงงานหยุดไลน์การผลิตเพราะไม่สามารถแบกต้นทุนที่สูงขึ้นได้อีกต่อไป ทั้ง อาหารสัตว์ เนื้อหมู เนื้อไก่ และไข่ไก่ ต้องอยู่ใต้อาณัติของกระทรวงพาณิชย์มาตรการคุมราคาสินค้า (อาหารสัตว์) คุมราคาหน้าฟาร์ม (หมู ไก่ ไข่) เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาขายปลีกไม่ให้สูงเกินไปและรักษาเสถียรภาพอัตราเงินเฟ้อของประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่ในภาวะที่ต้นทุนการผลิตพุ่งเป็นจรวดภาครัฐควรผ่อนปรนมาตรการเพื่อให้ระบบการผลิตเดินหน้าต่อได้ เศรษฐกิจประเทศจึงจะอยู่ได้ เพราะการคุมราคาสินค้านานเกินไปจนผู้ผลิตประสบปัญหาขาดทุนสะสมหนักๆ ก็อาจตัดสินค้าใจเลิกการผลิต จะทำให้สินค้าขาดตลาดและมีราคาแพง ร้ายกว่านั้นอาจเกิดการกักตุนและเก็งกำไร นั่นจะเป็นผลร้ายต่อผู้บริโภคต้องแบกภาระสินค้าราคาแพงและสินค้าหายากอาจทำให้เกิด “ตลาดมืด” สำหรับสินค้าจำเป็น ภาครัฐจึงควร “ตัดไฟ แต่ต้นลม” ปล่อยให้ราคาเนื้อสัตว์ปรับขึ้นในอัตราที่เหมาะสม ให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันด้วยระบบยุติธรรมและธรรมาภิบาล

                                            —————————————-     

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *