นายอัคคพล เสนาณรงค์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร ได้พัฒนาโรงเรือนผักอัจฉริยะต้นแบบที่ศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นโรงเรือนพืชที่ควบคุมด้วยระบบควบคุมอัตโนมัติที่สมการควบคุมมีตัวแปรต้น เช่น อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ฯลฯ ตั้งแต่สองตัวแปรขึ้นไปในสมการเดียวกัน เพื่อไปควบคุมอุปกรณ์ในโรงเรือน โดยสอดคล้องกับหลักทางเกษตรศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเทอร์โมไดนามิคส์ การควบคุมควรใช้สมองกลฝังตัวที่ติดตั้งในโรงเรือน โดยได้แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นจุดสาธิตถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ โดยเฉพาะโรงเรือนพืชอัจฉริยะแบบต่างๆ มีการใช้ เซนเซอร์ และสมองกลฝังตัว มาควบคุมอัตโนมัติ เพื่อให้ง่ายต่อเกษตรกรในการพัฒนาต่อยอด
โรงเรือนผักอัจฉริยะต้นแบบ มีขนาด 6x9x2.2 เมตร (กว้างxยาวxสูง) หลังคาด้านบนเป็นพลาสติกด้านข้างเป็นมุ้งตาข่าย 32 mesh ด้านในโรงเรือนมีกระบะปลูกผักแบบยกพื้นขนาด 1x6x0.9 เมตร (กว้างxยาวxสูง) จำนวน 3 กระบะ มีเครื่องทำความชื้นแบบแผ่นระเหยน้ำหมุนเวียนอากาศภายในโรงเรือน จำนวน 2 เครื่อง แต่ละเครื่องมีพัดลม 2 ตัว เป่าอากาศผ่านแผงรังผึ้ง ที่มีน้ำปล่อยลงมา น้ำบนแผงรังผึ้งจะระเหยและดึงความร้อนออกจากอากาศ ทำให้ลมที่เป่าออกมาเย็นและชื้นช่วยลดอุณหภูมิได้ ควบคุมด้วยสมองกลฝังตัวทุก 30 วินาที ให้เปิดเครื่องทำความชื้นอัตโนมัติ ถ้าอุณหภูมิข้างในโรงเรือนสูงกว่า 30°C และความชื้นสัมพัทธ์ข้างในโรงเรือนต่ำกว่า 60%
ด้านบนโรงเรือนมีตาข่ายพรางแสง เปิด-ปิด ด้วยมอเตอร์เกียร์ไฟฟ้า ควบคุมด้วยสมองกลฝังตัวทุก 60 วินาที ให้ปิดตาข่ายพรางแสงอัตโนมัติ เมื่อความเข้มแสงอาทิตย์ภายนอกโรงเรือนมีความสว่างสูงกว่า 30,000 ลักซ์ โดยความเข้มแสงด้านในจะลดลงเหลือราว 10,000 ลักซ์ เพื่อลดความร้อนได้ทันก่อนที่ความร้อนจะสะสมใต้หลังคา มีระบบให้น้ำและปุ๋ย ที่ควบคุมด้วย timer ตั้งเวลาให้น้ำวันละ 9 ครั้ง ทุกชั่วโมง (8.00-16.00 น.) ให้ปุ๋ยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยในถังปุ๋ยจะผสมปุ๋ยสูตร 20-20-20 จำนวน 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 100 ลิตร ทั้งนี้จะมีเครื่องกวนปุ๋ยที่ตั้งเวลากวนปุ๋ยก่อนให้ปุ๋ย 5 นาที
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กล่าวว่า จากการทดสอบระบบควบคุมต่างๆของโรงเรือน พบว่าการพรางแสงอัตโนมัติ ที่ควบคุมด้วยสมองกลฝังตัวทุก 60 วินาที มีส่วนสำคัญในการช่วยลดความร้อนจากแสงที่เกินความจำเป็นได้ทันต่อเวลา จึงสามารถรักษาอุณหภูมิภายในโรงเรือนไม่ให้ต่างกับอุณหภูมิภายนอกโรงเรือนมาก โดยถ้าไม่ให้ความชื้นและพรางแสงตอนกลางวัน อุณหภูมิภายในโรงเรือนจะร้อนกว่าด้านนอกราว 5-10 องศาเซลเซียส ระบบควบคุมเครื่องทำความชื้นสามารถทำงานอัตโนมัติตามที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะเวลากลางวัน (9.00-18.00) สามารถรักษาความชื้นสัมพัทธ์ให้อยู่ราว 60% ได้ ถึงแม้ว่าความชื้นสัมพัทธ์ด้านนอกจะต่ำราว 40% ก็ตาม ซึ่งเมื่อความชื้นสัมพัทธ์ในโรงเรือนไม่แกว่งตัวมาก จึงไม่จำเป็นต้องปรับอัตราการให้น้ำให้ต่างกันเป็นรายวัน โดยได้ทำการทดสอบการปลูกผักเคลราชินีแห่งผักใบเขียวที่กำลังเป็นที่นิยม โดยผักเคลที่ปลูกในโรงเรือนจะไม่ใช้สารเคมี ใช้แต่ชีวภัณฑ์กำจัดแมลง ปลูกในกระบะขนาด 1×6 เมตร ใช้วัสดุปลูกเป็นทรายหยาบที่ผสมปุ๋ยหมัก ปลูกลงกระบะ ระยะปลูกราว 30 เซนติเมตร จำนวน 8 แถว สามารถปลูกได้ราว 240 ต้น/กระบะ จากการสังเกตการเจริญเติบโตพบว่าผักมีการเจริญเติบโตได้ดีในโรงเรือน ได้ผลผลิตรวม 41.2 กิโลกรัม
หัวใจสำคัญของโรงเรือนอัจฉริยะ คือ การใช้สมการควบคุมเครื่องทำความชื้นที่มีตัวแปรต้น 2 ตัว คือ อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ ทำให้ไม่เกิดความผิดพลาด เหมือนระบบควบคุมที่ใช้ตัวแปรต้นตัวเดียว ซึ่งโรงเรือนผักอัจฉริยะจะช่วยลดแรงงานของเกษตรกรได้มาก เพราะเป็นการควบคุมอัตโนมัติ เกษตรกรไม่ต้องเสียเวลาและแรงงานมาควบคุมการเปิด/ปิด เครื่องทำความชื้น ม่านพรางแสง ระบบให้ปุ๋ย และระบบให้น้ำ เกษตรกรและผู้สนใจสามารถเข้าชมโรงเรือนผักอัจฉริยะได้ที่ศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ จังหวัดระยอง และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม โทรศัพท์ 0 2940 5791 และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระยอง 038 692 355
—————————————————————————————————